ในคาบเรียนวิชาความคิดสร้างสรรค์
ดิฉันบอกให้เด็กๆ ดีไซน์ขนมตอนพักเบรคให้เพื่อนที่นั่งข้างๆ
เด็กๆ เริ่มหันไปถามเพื่อนว่า “เธอชอบ/ไม่ชอบกินอะไรบ้าง”
ผ่านไป 5 นาที ดิฉันบอกให้เด็กๆ หยุด
และถามใหม่อีกครั้งว่า “ขนมเบรคมีไว้เพื่ออะไร”
เด็กบอกว่า “เพื่อให้ผ่อนคลาย ให้พัก จะได้ตั้งใจเรียนต่อ”
ดิฉันถามต่อ “แล้วจำเป็นต้องเป็นขนมไหม?”
คราวนี้ เด็กๆ ตาเป็นประกาย
พวกเขาตะโกนว่า “เป็นหมอนก็ได้! สเปรย์ฉีดหน้าให้สดชื่นก็ได้! เป็น …#@$%”
ดิฉันปล่อยให้เด็กๆ ถามคำถามเพื่อนข้างๆ ใหม่เพื่อหาไอเดียออกแบบ “ขนมเบรค”
อย่างน้อย พวกเขาได้เรียนรู้แล้วว่า “คำถามเปลี่ยน คำตอบก็เปลี่ยน”
+++++++++++++++++
ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นท่านหนึ่งเคยติดกับดักคำถาม
เขามุ่งมั่นหาดีไซน์ที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใครในตลาด
มีแค่คนในวงการจำนวนน้อยนิดที่ยอมรับ
แต่เมื่อเขาเปลี่ยนวิธีตั้งคำถาม เขารังสรรค์คำตอบใหม่ให้แก่วงการดีไซน์
หลังจากนั้นเป็นต้นมา แบรนด์ดังๆ ระดับโลก อาทิ ISSEY Miyake, Swarovski, Hermes
ก็เข้าแถวขอให้เขาช่วยออกแบบให้
ค่ะ…ดิฉันกำลังพูดถึง Yoshioka Tokujin (吉岡 徳仁)
ดีไซเนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่นที่มักดึงความสวยงามของวัสดุนั้นๆ
ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติได้ในผลงานของเขา

โยชิโอกะรู้ว่า ตนเองชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก
เขาถามพ่อว่า “ผมชอบวาดรูป โตไปทำงานอะไรดี”
แทนที่พ่อจะบอกว่า “นักวาดภาพ” พ่อเปิดโลกใหม่ให้โยชิโอกะด้วยการบอกว่า
“มันมีอาชีพที่เรียกว่า ดีไซเนอร์ เราสามารถวาดออกแบบลูกบิดประตูก็ได้ รถยนต์ก็ได้ อะไรก็ได้”
โยชิโอกะได้เป็นดีไซเนอร์สมใจอยาก
เขาทำงานเป็นลูกมือ Issei Miyake อยู่ 5 ปีก่อนออกมาตั้งออฟฟิของตนเองในวัย 30 ปี
เขาออกแบบสิ่งของต่างๆ แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับแค่ในหมู่คนในวงการกลุ่มเล็กๆ
โยชิโอกะแปลกใจ…”ทั้งๆ ที่ดีไซน์ของที่แปลกใหม่สุดๆ โดดเด่นสุดๆ ในยุคนั้นแท้ๆ…”
คนที่เปลี่ยนวิธี “ตั้งคำถาม” (วิธีดีไซน์) ของโยชิโอกะ คือ Issei Miyake
Issei มอบหมายให้โยชิโอกะออกแบบนิทรรศการรวบรวมผลงาน Issei Miyake
และบอกโยชิโอกะว่า “ออกแบบนิทรรศการแบบ…แม้แต่เด็กก็ยังรู้สึกสนุกได้นะ”
นั่นเป็นครั้งแรก ที่โยชิโอกะเปลี่ยนวิธีคิด
จาก “ดีไซน์อะไร” เป็น “ดีไซน์อย่างไรให้เด็กรู้สึกสนุก”
นิทรรศการในครั้งนั้น โยชิโอกะนำชุดของ Issei มาผูกกับสปริง
ทำให้ผ้ากระโดดโลดเต้นมีชีวิตชีวา
เด็กๆ ที่ไปดู กระโดดตาม หัวเราะอย่างสนุกสนาน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา โยชิโอกะไม่ได้มองว่าตนจะออกแบบทรงอะไร รูปแบบไหน
เรียบง่ายอย่างไร แต่จินตนาการว่า ผู้ใช้หรือผู้มอง น่าจะ “รู้สึก” อย่างไรเวลาเห็นหรือใช้ของสิ่งนั้น
โยชิโอกะเริ่มดีไซน์จาก “ความรู้สึก” คน
ครั้งหนึ่ง Swarovski ขอให้โยชิโอกะดีไซน์ของที่สะท้อนความเป็น Swarovski
คนทั่วไปคงจะเริ่มคิดจากโจทย์ที่ว่า เราจะแกะสลักคริสตัลเป็นรูปทรงอะไรดี
โยชิโอกะหยิบคริสตอลขึ้นมาดู เห็นความงามของแสงสะท้อนเหล่านั้น
และอยากให้คนดู “เห็น” และ “สัมผัส” ความงามของคริสตัลนั้น
เขาลองหย่อนคริสตัลลงในขวดแก้วใส
คริสตัลสะท้อนแสงสวยงามเหลือเกิน
โยชิโอกะปิ๊งไอเดีย …
เอาคริสตัลใส่ขวดน้ำหอม ให้คริสตัลสะท้อนแสงเป็นประกาย
ให้คนได้ “เห็น” ความงามของแสงสะท้อน
ได้ “กลิ่น” ของคริสตัล
และได้รับรู้ถึงความงามของ Swarovski

ถ้าโจทย์คือ ดีไซน์เก้าอี้ อย่าคิดว่าจะออกแบบเก้าอี้อย่างไร
แต่ให้นึกว่า การนั่งเป็นความรู้สึกแบบไหน และจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ต่างจากเดิม
หรือดีกว่าเดิมได้อย่างไร
อาจเป็นเก้าอี้ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงได้เรื่อยๆ ….คนจะได้นั่งแล้วสนุก ก็ได้…
Issei Miyake เคยกล่าวถึงโยชิโอกะว่า
“เขาสามารถนำวัสดุใกล้ๆ ตัว หรือสายลม หรือแสงแดด บางครั้งก็เล่นกับแรงโน้มถ่วง
มาสร้างสรรค์ผลงานที่ทำให้พวกเราแปลกใจ เขาสร้าง “บรรยากาศ” เหมือนฝันที่คนทั่วไป
ไม่น่าจะนึกถึงได้ คนที่ทำได้อย่างนี้ ..ในโลกนี้..ก็มีแต่เขานั่นแหละ”
โยชิโอกะกล่าวว่า
“หากเราเน้นไปที่ความแปลกใหม่ เทคโนโลยีใหม่
คนมองแค่ 1 ชั่วโมงก็อาจจะเบื่อแล้ว
เราต้องหาระบบ ต้องเข้าใจว่า ทำไมคนถึงเกิดความรู้สึกประทับใจ
จะทำอย่างไรถึงจะสร้างออร่า เปลี่ยนบรรยากาศรอบๆ ของ รอบๆ ห้อง
และทำให้เกิดความงดงามได้
หากทำได้ แม้เวลาจะผ่านไป 10 ปี ของสิ่งนั้นจะยังคงงดงามอยู่”

++++++++++++++++++++++
โยชิโอกะไม่ได้สอนเราแค่หลักการดีไซน์
แต่สอนวิธีการตั้งโจทย์แบบใหม่
ตั้งคำถามแบบใหม่ ก็นำไปสู่คำตอบแบบใหม่
“ทำอย่างไรถึงจะสอบได้คะแนนดี” -> “ทำอย่างไรเราถึงจะรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้”
“ทำอย่างไรถึงจะขายดี” -> “ทำอย่างไรจะทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้น”
“ทำอย่างไรถึงจะรวย” -> “เราจะสร้างคุณค่าให้คนอื่นได้มากๆ ได้อย่างไร”
“ทำอย่างไรแฟนถึงจะเข้าใจฉัน ใส่ใจฉันบ้าง” -> “ทำอย่างไรให้แฟนรับรู้ถึงความรู้สึกดีๆที่ฉันมีให้ตลอด”
ลองตั้งคำถามใหม่กับชีวิต การงาน ความรักดูนะคะ ????
คุณอาจพบโลกใหม่เหมือน Yoshioka Tokujin ก็ได้