Ando Tadao สถาปนิกผู้มี “อิสระ”
Ando Tadao สถาปนิกผู้มี “อิสระ”

Ando Tadao สถาปนิกผู้มี “อิสระ”

Ando Tadao (安藤忠雄: อันโด ทาดาโอะ) สถาปนิกญี่ปุ่นชื่อดัง


ที่มหาวิทยาลัยระดับโลก อาทิ โตได Yale Harvard เชิญไปสอน
และมีผลงานอยู่ตาม Museum ระดับโลก เช่น MOMA

สมัยอยู่ญี่ปุ่น ดิฉันเคยฟังการบรรยายของอาจารย์อันโด 2 ครั้ง
เป็นการบรรยายเรื่องการใช้ชีวิตให้กับเด็กมหาวิทยาลัยอย่างเราฟัง
ลีลาการพูดของแก ชวนให้ดิฉันนึกถึงป๋าเทพ
โผงผาง มีพลัง จริงจัง แต่ก็ตบมุขเรียกเสียงฮาตลอด
สิ่งที่อาจารย์อันโดย้ำทุกครั้งคือ “ไม่ต้องคิดมาก ลงมือทำเถอะ”

หรือเป็นเพราะท่านผ่านประสบการณ์การ “ลงมือทำเถอะ” นี้มานับครั้งต่อครั้ง
ตั้งแต่การเป็นนักมวย การเรียนสถาปัตย์ฯ “ด้วยตัวเอง” และการตั้งสำนักงานทั้งๆ ที่ไม่มีงาน…
an

+++++++++++++++++++
ตอนเด็กๆ อันโดต้องจากพ่อแม่มาอยู่กับคุณป้าซึ่งก็ให้อิสระกับแกมาก
คุณป้าบอกว่า “คะแนนสอบ ยังไงก็ได้ ขอให้ร่างกายแข็งแรงก็พอ
ไปโรงเรียนก็ไปเรียนหนังสือซะ แต่กลับมาบ้าน ก็เล่นให้เต็มที่”

ชีวิตสมัยเด็กของเด็กชายอันโดเลยวนเวียนอยู่กับการรีบปั่นการบ้านให้เสร็จ
แล้วกลับบ้าน เปลี่ยนชุด ไปเที่ยวเล่น
อันโดจึงเป็นเด็กที่ตั้งอกตั้งใจคิดวิธีเล่นสนุกมาก
เช่น จะจับปลายังไง จะดักแมลงปอยังไง
(การได้อยู่กับธรรมชาติ ส่งผลต่อวิธีออกแบบของอันโดอย่างยิ่งในภายหลัง)

หากแถวบ้านมีเรื่องเด็กทะเลาะกัน คุณป้าก็รู้ได้เลยว่า ต้องมีด.ช.อันโดเข้าไปเอี่ยวแน่นอน
ตอนสมัยเด็ก ท่านเป็นเด็กที่เฟี้ยว เฮี้ยวมาก
เรียนได้ที่ 40 จาก 50 ไม่เก่งเลข ไม่เก่งศิลปะ
เก่งอย่างเดียว คือ การวิ่ง .. วิ่งเร็วที่สุดในชั้นเรียนเลย

อันโดเริ่มสนใจงานสถาปนิกตอนช่วงมัธยมต้น
มีเหตุการณ์ 2 อย่างที่สำคัญต่อชีวิตแก
หนึ่ง คือ แกได้พบครูเลขท่านหนึ่ง
ที่สามารถสอนและชี้ให้เห็นความงามของสมการและสูตรต่างๆ ได้

เหตุการณ์ที่สอง คือ ช่วงนั้น ที่บ้านซ่อมต่อเติมหลังคา
แกเห็นนายช่างทั้งหลายทำงานน่าสนุกดี ก็เลยไปช่วยเป็นลูกมือ
ภาพนายช่างที่ตั้งอกตั้งใจทำงานจนลืมเวลากินข้าว ทำให้อันโดประทับใจมากว่า
คนเราสามารถจดจ่อและตั้งใจทำงานขนาดนี้ได้เลย

เมื่อเข้าม.ปลาย อันโดเลือกเรียนโรงเรียนช่าง คะแนนสอบก็ไม่ดีเหมือนเดิม
พอขึ้นม. 5 อันโดจึงลองไปเป็นนักมวยสมัครเล่นดู เพราะร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว
แกยังคิดเสียด้วยซ้ำว่า “ได้ตีต่อยกับชาวบ้าน แถมได้เงินอีก งานดีชะมัด”
อันโดต่อยมวยสักระยะและได้รางวัลอยู่บ้าง
แต่พอเห็นโปรฯมวยซ้อมกัน ทั้งกำลัง ทั้งความเร็ว ยังไงก็สู้ไม่ได้แน่ๆ
แกจึงล้มเลิกความคิดที่จะเป็นนักมวย และหันมาทำงานสถาปนิกแทน

ปกติแล้ว คนที่จะเป็นสถาปนิกที่ญี่ปุ่นได้นั้น จะต้องเข้ามหาวิทยาลัย
แต่อันโดนั้น คะแนนสอบก็ไม่ดี ฐานะทางบ้านก็ไม่อำนวย
พอจบม.ปลาย แกจึงไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย ต้องเรียน “สถาปัตยกรรม” ด้วยตัวเอง

เด็กที่ไม่เคยเรียนหนังสือให้ดีมาทั้งชีวิต จะอ่านและซึมซับเนื้อหาในหนังสือได้อย่างไร?

อันโดคิดค้นวิธีเรียนสถาปัตย์ฯ แบบพิเศษมาอย่างหนึ่ง คือ
ไปดูของจริงด้วยตาตัวเอง สงสัยหรือสนใจอะไร ค่อยกลับมาค้นคว้า

เนื่องจากแกอยู่โอซาก้า แกก็จะออกไปดูวัดเก่าๆ ในนารา เกียวโต ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก
จากนั้น ก็คิดว่า คนโบราณสร้างวัดนี้ขึ้นมาได้อย่างไร เอาวัสดุมาจากที่ไหน
ใช้เทคนิคอะไรบ้าง แล้วก็กลับไปหา

แกเรียนด้วยความอยากรู้อยากเห็น และสงสัย
ตอนอายุ 22 ปี …แกเดินทางรอบญี่ปุ่นเพื่อไปดูสถาปัตยกรรมต่างๆ
ตอนอายุ 24 ปี … แกตัดสินใจเดินทางเพื่อไปดูสถาปัตยกรรมต่างประเทศเป็นเวลา 10 เดือน (ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ กรีซ อิตาลี สเปน แอฟริกาใต้ มาดากาสการ์ มุมไบ ฮ่องกง ไต้หวัน)

คำพูดของคุณป้าที่ว่า “เงินไม่ได้มีไว้เก็บ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีใช้ ใช้อย่างไรให้มีคุณค่า”
เป็นคำที่ช่วยผลักให้อันโดตัดสินใจเอาเงินเก็บทั้งหมดกว่า 2 แสนกว่าบาท (40 กว่าปีก่อน)
มาใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศหมด

แกเชื่อว่า งานสถาปัตยกรรม ควรไปดูด้วยตาตัวเอง ไปสัมผัสด้วยประสาททั้ง 5

ความไฟแรงของอันโด ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ค่ะ
ตอนอายุ 28 แกเปิดออฟฟิศเล็กๆ ของตัวเอง แต่ยังไม่มีใครมาจ้างงาน
เวลาว่างเยอะมาก แกเลยนั่งคิดถึงเรื่องออกแบบว่า อยากออกแบบอะไร แบบไหน
แกออกไปเดินเล่น เห็นที่ว่างแปลงไหน ก็ลองออกแบบตึกดู
วาดละเอียดเสร็จแล้วก็ไปเสนอเจ้าของที่แปลงนั้นว่าสนใจไหม

แน่นอน อยู่ๆ มีเด็กหนุ่มมาเสนอแบบนี้
เจ้าของที่บางคนก็ตกใจ บางคนก็ด่ากลับมา หาว่าทำอะไรบ้าๆ บอๆ เสียเวลาเค้า
แต่อันโดคิดว่า แทนที่จะมานั่งว่างๆ รองาน ก็ “สร้างงาน” ให้ตัวเองเลยดีกว่า
(แม้ว่าจะไม่มีเจ้าของที่ดินคนไหนยอมรับแบบอันโดไปใช้
แต่เขาบอกว่า นั่นเป็นอีกประสบการณ์ที่ดีในชีวิต)

คำพูดของอาจารย์อันโดที่ดิฉันยังจำได้ และประทับใจ คือ
เรื่องความรัก สังคม และธรรมชาติ


แกบอกว่า …
“งานสถาปนิก เป็นงานที่ต้องรักคน รักสังคมนะ
เราต้องทำงานกับลูกค้า กับช่าง กับสิ่งแวดล้อมรอบๆ อาคารนั้น
หากเราไม่รัก ไม่คำนึงถึงคนหรือสิ่งเหล่านี้ เราไม่มีทางสร้างสิ่งก่อสร้างที่ดีขึ้นมาได้

สิ่งที่น่าเสียดาย คือ เด็กรุ่นหลังเริ่มมี “ความรัก” น้อยลง

เด็กสมัยก่อนไปเล่นกับเพื่อน ได้พูดคุยกัน เล่นกัน
รอบๆ เราก็มีดอกไม้ใบหญ้าหมาแมว ล้อมรอบไปด้วยสิ่งมีชวิตทั้งนั้น
แต่เด็กรุ่นหลังต้องเรียนหนังสืออย่างเดียว อาจไม่มีเวลาเรียนรู้ชีวิตและความสัมพันธ์ก็ได้
น่าเสียดายจริงๆ”
+++++++++++++


ชีวิตวัยเด็กแสนอิสระที่สามารถเล่นได้เต็มที่ ได้อยู่ในอ้อมกอดธรรมชาติ
ทำให้อันโดเห็นความสำคัญของความรัก ความสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อม
เป็นที่รู้กันในวงการว่า ผลงานของแกโดดเด่นเรื่อง ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ

การเรียนรู้โดยอิสระที่เกิดจาก “ความอยากรู้” ไม่ใช่ “ความจำใจที่ต้องรู้”
กลายเป็นพลังที่ทำให้แกออกเดินทางไปทั่วประเทศ ทั่วโลก
และศึกษาค้นคว้าด้านสถาปัตย์ด้วยตัวเอง
เวลาทำงาน ก็เลือกที่จะ “สร้างงาน” ขึ้นมาด้วยตัวเอง

อิสระในการเล่น อิสระในการเรียน อิสระในการทำงาน…
“ไม่ต้องคิดมาก ลงมือทำเถอะ”
Ando Tadao

Avatar photo
เจ้าของนามปากกา เกตุวดี กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดญี่ปุ่นที่เขียนบทความจากประสบการณ์ศึกษาและทำงานที่ญี่ปุ่นเกือบ 10 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเขียนประจำเว็บไซต์กรุงศรี กูรูด้านการตลาดที่พร้อมให้ความรู้และเรื่องราวสไตล์แดนปลาดิบ "หมั่นถามตนเองเสมอว่า ในวันนี้เราได้สร้างประโยชน์อะไรให้ลูกค้า/สังคมแล้วหรือยัง"