เรื่องราวของช่างทำขนมญี่ปุ่น …Yamguchi Tomizo
ตอนแรก ดิฉันบังเอิญเห็นคลิปนี้ใน Youtube แบบผ่านๆ
คลิกเข้าไปดูแว้บเดียว แค่สงสัยว่า ลุงเป็นใคร ทำไม NHK มาถ่ายทำ
แต่เรื่องราวของช่างทำขนมท่านนี้ ก็ทำให้นักการตลาดอย่างดิฉันได้ตาสว่างเกี่ยวกับการตลาดได้ค่ะ
ปกติ เวลาดิฉันสอนนักศึกษาเรื่องการทำ Marketing
สิ่งที่ดิฉันย้ำเด็กๆเสมอ คือ “พยายามตอบสนองความต้องการลูกค้า”
และ “แบรนด์ต้องมี Story”
คุณลุงช่างทำขนมญี่ปุ่นวัย 71 ปีคงไม่ได้เรียนการตลาดมาอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่แกกำลังทำ ช่างตรงกับสิ่งที่นักการตลาดทั่วโลกพยายามทำอยู่เหลือเกิน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
คุณ Yamaguchi Tomizo (山口富藏) เป็นช่างขนมญี่ปุ่นประจำเกียวโต
ที่ญี่ปุ่น จะมีคำเรียกขนมญี่ปุ่น ว่า “วากาชิ (和菓子)”
และเรียกขนมฝรั่งว่า “โยกาชิ (洋菓子)”
ถ้าเป็นเมืองไทย วากาชิ จะเปรียบเสมือนฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด
คือ ขนมโบราณที่มีมาแต่ดั้งเดิมค่ะ
คุณลุงเป็นช่างทำขนมชื่อดังในวงการมากๆ
ลูกค้ามักจะขอให้คุณ Yamaguchi ออกแบบและทำขนมให้ในโอกาสพิเศษเฉพาะ
เวลามีการจัดพิธีชงชาที่สำคัญๆ ในเกียวโต จะต้องมีขนมจากร้านคุณลุงเสิร์ฟคู่เสมอ
คุณลุงบอกว่า ตอนผมออกแบบขนมญี่ปุ่น ผมไม่คิดว่าผมกำลัง “ทำ” ขนม
ผมคิดว่า ผมกำลัง “เล่น” กับขนมอยู่
ทำใจให้ว่าง…นึกถึงกาพย์ กลอน ศิลปะ ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์
ได้รับแรงบันดาลใจ แล้วถึงค่อยออกแบบขนมญี่ปุ่นให้ลูกค้าได้
อย่างงานชงชาของชมรมผู้หญิงที่เล่นโกะ (หมากล้อมญี่ปุ่น)
ผู้จัดงานมาขอให้คุณ Yamaguchi ทำขนมให้
ขณะที่คุณลุงประชุมกับลูกค้าเรื่องแบบขนม
ผู้หญิงในชมรมคนหนึ่งเริ่มถึงตอนที่ตนเองสนใจหมากล้อมญี่ปุ่น
“ดิฉันหลงรักการเล่นโกะ เพราะเคยอ่านนิยายสมัยก่อน
ผู้หญิงที่เล่นโกะดูสง่างามมาก ดิฉันอยากเห็นความงามนั้นในขนมค่ะ”
คุณลุงหลับตาคิดแปบหนึ่ง
จากนั้น ขอตัวลูกค้าเดินออกไปจากห้อง
สิ่งที่ดิฉันตกใจ คือ
คุณ Yamaguchi เดินขึ้นไปที่ชั้น 5 ของบริษัทเข้าไปที่ห้องเก็บของ
ในนั้น มีหนังสือเล่มใหญ่ๆ หนาๆ เป็นร้อยเล่ม
หนังสือวรรณคดีโบราณ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นต่างๆ เรียงรายกันเป็นแถว
ช่างทำขนมญี่ปุ่น..ต้องรู้ขนาดนี้….เลยหรือ

คุณลุงเลือกหยิบมา 3-4 เล่ม และกลับมานั่งคุยกับลูกค้าต่อ
คุณลุงถามว่า ผู้หญิงที่เล่นโกะในสมัยโบราณ แต่งตัวกันอย่างไร
ลูกค้าบอกว่า เหมือนชุดกิโมโน Ju-ni-Hitoe (ชุดกิโมโนโบราณแบบหนึ่ง)
คุณลุงหยิบหนังสือมาเล่มหนึ่ง และเปิดให้ลูกค้าดู
เธอบอกว่า “ใช่! กิโมโนแบบนี้แหละค่ะ!”
เธอแปลกใจและดีใจมาก
จากนั้น คุณลุงก็ดีไซน์ขนมเป็นโมจิสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทบกัน 2 สี
คล้ายชายเสื้อกิโมโนของสตรีโบราณ
ลูกค้าเห็นแล้วดีใจมาก บางคนน้ำตาซึม
พวกเธอบอกว่า “ไม่นึกว่าคุณลุงจะตั้งอกตั้งใจคิดและทำให้พวกเธอขนาดนี้”
เมื่อถามคุณลุงว่า ทำไมคุณลุงถึงตั้งใจคิด ตั้งใจทำขนาดนี้
คุณลุงบอกว่า “一期一会(อิชิโกะ อิชิเอะ)”
ซึ่งแปลว่า “พบกันเพียงครั้งเดียวในชีวิต”
ศัพท์คำนี้ มาจากพิธีชงชาญี่ปุ่น
มีความหมายว่า เราจะได้มีโอกาสร่วมพิธีชงชากับแขกหนึ่งๆ ในสถานที่แห่งนั้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะฉะนั้น ทั้งผู้จัดและทั้งแขก ต้องปฏิบัติต่อกันให้ดีที่สุด
คุณลุงนำคำนี้มาใช้กับวิธีการทำขนมของตน

“ขนม” ที่คุณลุงทำ ก็มีโอกาสเจอลูกค้าแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
คนทานเสร็จ ก็หมดไป
แม้ลูกค้าเก่าจะกลับมาสั่งขนมชิ้นใหม่
ขนมก็เปลี่ยนไป ลูกค้าก็เปลี่ยนไป (ผ่านวันวานต่างๆ มา)
การพบกันของขนมและลูกค้า เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตของแต่ละฝ่ายจริงๆ
เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรให้ลูกค้าคนนั้นๆ มีความสุขมากที่สุด
นั่นคือสิ่งที่คุณลุงคิดเวลาออกแบบและทำขนมญี่ปุ่น
แว้บแรกที่เรามองขนมโมจิที่คุณลุงทำ เราอาจรู้สึกว่านี่คือโมจิธรรมดาๆ
แต่หากฟัง “Story” เราก็จะอินไปกับโมจินั้น
ขนมโมจิ ที่มีแรงบันดาลใจมาจากสตรีโบราณที่เล่นหมากล้อมอย่างสง่างาม
แต่ Story นั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
เรื่องราว เกิดจากบทสนทนาที่ช่างทำขนมคนหนึ่ง นั่งคุยกับลูกค้ากว่า 2 ชั่วโมง
ตั้งใจเงี่ยหูฟังลูกค้า และคิดทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้า
แต่ช่างทำขนมตั้งอกตั้งใจทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
ความตั้งใจนั้น มาจากความเชื่อของเขา..
“ขนม ที่มีโอกาสได้พบกับลูกค้าเพียงครั้งเดียว
จะทำอย่างไรให้ลูกค้าประทับใจมากที่สุด”
นี่คือวิธีคิดที่นำไปสู่การสร้าง Brand story และการทำเพื่อลูกค้าของช่างทำขนมญี่ปุ่น …คุณ Yamaguchi Tomizo (山口富藏) ค่ะ