The Cloud ทำอย่างไรให้คนอ่าน (หลง) รัก

Read The Cloud [โดย ทรงกลด บางยี่ขัน]
The Cloud เว็บไซต์ที่นำเสนอเรื่อง (อยาก) เล่าแนวสารคดีในหมวด Local • Creative Culture • Better Living | ท้องถิ่น ความคิดสร้างสรรค์ การทำให้ชีวิตดีขึ้น
.
The Cloud พยายามทำตัวเป็นสื่อที่คิดใหม่ อยากลองทำในสิ่งที่สื่ออื่นยังไม่ได้ทำ สุดท้ายไม่ว่าผลจะออกมาดีหรือไม่ อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำ
.
ยุคนี้ไม่ต้องหวังว่าทุกคนจะรัก (เว็บไซต์) เรา เพราะมีตัวเลือกให้เลือกเยอะมาก ดังนั้นเราจึงหันไปสนใจคนที่เราอยากคุย หรือทำในสิ่งที่อยากพูด จากประสบการณ์ทำให้พอรู้ว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่คนอยากอ่าน แต่ไม่มีใครทำให้พวกเขาอ่าน เราก็ทำสิ่งนั้น พอมีคนเห็น เกิดการบอกต่อ ฐานคนอ่านก็ค่อยขยายใหญ่ขึ้น

แต่สิ่งที่เราอยากได้ไม่ใช่ตัวเลข แต่คือความรัก
ซึ่งความรัก เงินซื้อไม่ได้

เราไม่สามารถบอกให้ Social media ส่งคนที่รักเรามาให้หน่อย เป็นไปไม่ได้ เราจึงต้องให้คอนเทนท์ทำหน้าที่ เพื่อให้คนเห็น บอกต่อ และกลับมาหา (อ่าน) เรา
.
คอนเทนท์ของ The Cloud ไม่สั้น แต่ค่อนข้างยาว มีคนบอก ‘ยาวไป ใครจะอ่าน ต้องสั้นๆ สิ’
บทสัมภาษณ์หลายตอนถ้าเทียบเป็นกระดาษเอสี่ เท่ากับ 11-12 หน้าเอสี่ แต่มีคนอ่าน

สุดท้ายได้พบว่า งานที่ดีหรือไม่ดี ไม่เกี่ยวกับสั้นหรือยาว งานที่สั้นก็คืองานที่สั้น แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นงานที่ดี ดังนั้นจงทำงานที่ดี มากกว่าคิดว่าจะทำงานสั้นหรือยาว
.
ก่อนที่จะมีตัวเลขอย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อก่อน เป้าหมายของการสื่อสารคือ ตัวสารสามารถพาส่งสารไปถึงจุดที่ต้องการได้หรือเปล่า ถ้าไปถึง ไม่ว่ามีคนเห็นเท่าไรก็สำเร็จ

อย่าถูกหลอกโดยตัวเลข และหลงคิดว่าคอนเทนท์ที่ยอด views เยอะ เท่ากับดี เพราะถ้าคิดแบบนั้นเมื่อไร เราจะพยายามทำทุกอย่างให้ได้ยอดเยอะ ไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คอนเทนท์ที่ดี

ตัวเลขเป็นสิ่งที่อยู่กับเราสั้นมาก เป็นเพียงมาตรวัดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องดู ดูเพื่อเป็นทิศทาง แต่อย่าให้ตัวเลขเป็นตัวนำทางเรา

คำถามคือ แล้วอะไรคือคอนเทนท์ที่ดี?
.
ถ้ามีคนอ่านสักคนบอกว่า ชอบงานชิ้นนี้มาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับชีวิตเขา

สิ่งที่เราต้องถามตัวเองคือ เรากำลังทำงานเพื่ออะไร?
เพื่อให้ได้ยอดที่ไม่กี่วันก็ลืม หรือ ให้ได้คำชมที่อยู่กับเราทั้งชีวิต

นั่นแหละคือคำตอบว่า คอนเทนท์ที่ดีควรเป็นอย่างไร

Avatar photo
เจ้าของนามปากกา เกตุวดี กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดญี่ปุ่นที่เขียนบทความจากประสบการณ์ศึกษาและทำงานที่ญี่ปุ่นเกือบ 10 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเขียนประจำเว็บไซต์กรุงศรี กูรูด้านการตลาดที่พร้อมให้ความรู้และเรื่องราวสไตล์แดนปลาดิบ "หมั่นถามตนเองเสมอว่า ในวันนี้เราได้สร้างประโยชน์อะไรให้ลูกค้า/สังคมแล้วหรือยัง"