ระหว่างที่ดิฉันนั่งอ่านใบสมัคร The Cloud School หลักสูตรริเน็นรุ่นที่ 5 อยู่ พบว่าผู้สมัครหลายท่านทำงานด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรม มานั่งนึกดูดี ๆ ดิฉันเขียนบทความใน The Cloud มา 4 ปีแล้ว แทบไม่เคยเขียนถึงบริษัทออกแบบเท่าไหร่เลย
นั่งนึก ๆ ดู ก็นึกถึงบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งดิฉันเรียกในใจว่า บริษัทรับออกแบบ ‘ความสุข’ เป็นบริษัทที่ทำให้ลูกค้าที่บรีฟงาน ผู้บริโภค ตลอดจนพนักงาน ยิ้มกันแก้มปริทีเดียว
Orange & Partners
ทำไมถึงตั้งชื่อบริษัทว่า Orange

ช่วงระหว่างกลางคืนกับกลางวัน มีดวงอาทิตย์ค่อย ๆ ส่องแสง
ช่วงระหว่างกลางวันกับกลางคืน ก็มีดวงอาทิตย์กำลังตกดิน
ในช่วงจังหวะระหว่างกาลเวลาที่ไม่แน่ชัดนัก แต่ท้องฟ้ากลับค่อย ๆ เปลี่ยนสี ภาพตรงหน้า ปรากฏเป็นท้องฟ้าถูกย้อมเป็นสีส้ม
สำหรับพวกเราแล้ว สีส้ม จึงเป็นสีของ ‘ความไม่แน่ชัด’ และ ‘ความประทับใจ’
ส่วนคำว่า Partners มาจากหลักคิดว่า บริษัทต้องการเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า
นี่คือที่มาของบริษัทรับออกแบบความสุขที่ชื่อ ‘Orange & Partners’
บริษัท Orange & Partners ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 โดยคุณ Kundo Koyama นักเขียนบทและนักวางแผนชื่อดัง (เป็นหนึ่งในคนที่มีส่วนสร้างหมีคุมะมง และเป็นผู้เขียนบทหนังเรื่อง The Departures)

คุณ Koyama บอกว่า บริษัทเขาสรุปไว้ได้ด้วย 2 คำ คือ Surprise และ Happiness
ในเว็บไซต์ของบริษัทเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า พวกเขาปรารถนาจะเป็นพื้นที่แห่งความรัก ที่สร้างประโยชน์ให้กับโลก
ลักษณะงานของที่นี่คือ งานออกแบบวางแผนการสื่อสาร ให้คำปรึกษาด้านแบรนด์ และให้คำปรึกษา เช่น มีบริษัทแห่งหนึ่งต้องการทดลองสร้างโรงแรมเพื่อรองรับตลาด Long Stay ทาง Orange & Partners ก็ช่วยออกแบบแนวคิดของโรงแรมนี้ให้อยู่กึ่งกลางระหว่างการพักสั้น ๆ กับการอยู่ระยะยาว



แขกพักที่นี่นานเท่าใดก็ได้ อาจจะมา Workcation ที่นี่ วันธรรมดา ทำงาน วันหยุด ก็ออกไปเดินเที่ยวในเมืองบ้าง คุยกับคนในเมืองบ้าง ทุกห้องมีห้องครัวและมีเครื่องซักผ้าอยู่ตรงพื้นที่ส่วนกลาง ได้ทำงานที่สงบ ๆ และได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่นด้วย
อีกโครงการหนึ่ง คือ การออกแบบเครื่องประดับให้แบรนด์เก่าแก่ของเยอรมัน ชื่อ GROSSE ทาง Orange & Partners วางแนวคิดเครื่องประดับนี้เป็น ‘การทบทวน 1 ปีที่ผ่านมา และตัดสินใจเส้นทางในอนาคต’



สร้อยนี้มีชื่อว่า ‘Dear Future” แฝงความหมายถึงตัวฉันในอนาคต ในล็อกเก็ต มีคำ 5 คำให้เลือก ได้แก่ Faith (ฉันจะสร้างศรัทธา) Calm (ฉันจะใช้ชีวิตอย่างสงบ) True (เป็นตัวของตัวเอง รักตัวเอง) Luck (พบโชคดี) Leap (เติบโตอย่างก้าวกระโดด) เป็นเครื่องประดับที่ทุกครั้งที่สวมใส่ ก็จะนึกถึงภาพตนเองในอนาคต
นอกจากนี้ หากสั่งซื้อทางออนไลน์ จะมีช่องให้เขียนจดหมายหาตนเองในอีก 1 ปีข้างหน้า เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ทางระบบจะจัดส่งจดหมายฉบับนี้ให้ผู้ซื้อ สมคอนเซ็ปต์ Dear Future
ความเชื่อของบริษัท
บริษัท Orange & Partners มีความเชื่อว่า งานคิดไอเดียและวางแผนกลยุทธ์นั้น เป็นบริการให้ใครสักคน ขณะเดียวกันก็แฝงความปรารถนาดีด้วย งานที่ดี จะทำให้ผู้คนรู้สึกประทับใจหรือตื่นเต้น และกลายเป็นการส่งต่อความรู้สึกร่วม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือสร้างเส้นทางใหม่ ๆ ได้
งานวางแผนที่ดี จะช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น อย่างกรณีโรงแรมข้างต้น นักท่องเที่ยวก็ได้มาเที่ยว พัก ทำงาน เรียนรู้วัฒนธรรมเก่าแก่ คนในชุมชนก็รู้สึกภูมิใจในเมืองตนเอง มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนกับคนต่างถิ่นบ้าง
นอกจากนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่า ผลงานของพวกเขาจะทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้สึกอบอุ่นได้


ปณิธานของ Orange & Partners คือการสร้างโลกที่มีเรื่องเซอร์ไพรส์ (ดี ๆ) และมีความสุข ผ่านงานสื่อสาร และเป็นพื้นที่แห่งความรักที่สร้างประโยชน์ให้กับโลกนี้
บริษัทนี้จึงไม่รับงานที่เป็นงานครีเอทีฟ แต่ดังเปรี้ยงปร้างแค่ระยะเวลาสั้น ๆ พวกเขาต้องการสร้างผลงานที่ทำให้ผู้คนรู้สึกประทับใจและอยู่ในความทรงจำของผู้คน เช่น การสร้างแบรนด์หรือการออกแบบโรงแรมที่อยู่ร่วมกับท้องถิ่นได้
การสร้างทีมที่จะไปสร้างเซอร์ไพรส์
ถึงตรงนี้ บริษัท Orange & Partners ดูเป็นบริษัทที่คิดดี ทำดีอย่างจริงจังมาก แต่จริง ๆ แล้ว บรรยากาศในการทำงาน มีแต่ความสมัครสมานกลมเกลียวและเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ
ที่นี่มีการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ บ่อยมาก ทั้งการไปชมดอกไม้ การไปเที่ยวด้วยกัน การอบรม ตลอดจนปาร์ตี้สังสรรค์ต่าง ๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด และทำมาตลอดตั้งแต่ตั้งบริษัทใหม่ ๆ คือ การเซอร์ไพรส์วันเกิดเพื่อนพนักงาน
ในช่วงแรก มีพนักงานเพียง 7 คน ทุกคนก็ช่วยกันคิดไอเดียเซอร์ไพรส์เจ้าของวันเกิดเวียนกันไป ปัจจุบัน แม้พนักงานจะมีจำนวนมากขึ้นเป็นเกือบ 30 คน พนักงานทุกคนก็ยังแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบเซอร์ไพรส์อยู่
ยกตัวอย่างการเซอร์ไพรส์ซาโตชิน พนักงานชายแผนกบัญชี
วันหนึ่งหลังประชุมเสร็จ บอร์ดบริษัทท่านหนึ่งบอกซาโตชินว่า “ซาโตชิน มีลูกค้าขอให้ออก Invoice แบบด่วนสุด ๆ ผมกดเข้าระบบไปแล้ว ฝากคุณช่วยทำเอกสารต่อนะ”
ซาโตชินก็ตาลีตาเหลือกไปเปิดคอม แต่พอดูรายการที่ต้องออกใน Invoice แล้ว ช่องรายละเอียดเขียนว่า
“ความพยายามของซาโตชินในการช่วยให้ทุกคนทำงานได้ราบรื่น… Priceless”
“ความใจดีเหมือนคุณพ่อที่พร้อมให้คำปรึกษาเสมอ… Priceless”
“น้ำเสียงอันอบอุ่นนุ่มนวลของซาโตชิน… Priceless”
มีรายละเอียดยาวขนาดนี้ จากนั้น ก็มีวิดีโอฉายขึ้นมา เป็นภาพบอร์ดบริษัทท่านนั้นไปขอพรศาลเจ้าเพื่อให้ซาโตชินสอบวุฒิด้านบัญชีผ่าน และซื้อเครื่องราง (แน่นอนว่า ถ่ายโดยบอร์ดท่านนั้น)
ส่วนเพื่อน ๆ คนอื่นก็เดินเอาแก้วที่มีลายวาดหน้าเหมือนของซาโตชินมาให้ เพราะเขาเป็นคนชอบดื่มสาเก

ส่วนการเซอร์ไพรส์ท่านประธานบริษัทนั้น ก็มีการเล่นใหญ่ไฟกะพริบเสมอ ๆ เช่น การสกรีนหน้าประธานบนรถหาเสียงและขับมาเซอร์ไพรส์

ส่วนอีกปีก็มีการฟอร์มทีม รวมพนักงานบริษัทในเครือทั้งหมด วิ่งผลัดกันจากจังหวัดโตเกียวไปยังจังหวัดนารา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านประธาน เป็นระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตร
ท่านประธานซึ่งเปิดบ้านเลี้ยงฉลองทุกคนอยู่แล้วนั้น ก็ได้เห็นคลิปวิดีโอที่พนักงานทุกคนแบ่งหน้าที่กัน ผลัดกันวิ่ง แล้วนักวิ่งคนสุดท้ายก็วิ่งเข้ามาเอาของขวัญมาให้ท่านประธาน
คุณ Kundo Koyama เชื่อว่า การเซอร์ไพรส์ใครสักคนนั้นต้องใช้พลังสูงมาก ต้องแคร์คนคนนั้นจริง ๆ ต้องแอบสังเกต คอยเข้าใจ และเดาว่าทำอย่างไรคนคนนั้นถึงจะดีใจ เขาจึงตั้งใจฝึกให้พนักงานมีทักษะเช่นนี้ ยิ่งสนุกกับการเซอร์ไพรส์ ก็ยิ่งทำงานได้ดี
จากกิจกรรมเซอร์ไพรส์วันเกิด (ซึ่งมีแทบทุกเดือน เดือนละหลายครั้ง) นี้ ชาว Orange & Partners จึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สนุกกับการเล่น สนุกกับการทำงาน และแน่นอนว่า สนุกในการสร้างความสุขให้ลูกค้าและทุกคนที่เกี่ยวข้องนั่นเอง
ความเชื่อที่ชัดเจน บวกกับการมีกิจกรรมที่ทำให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม และสนุกกับการทำให้ผู้อื่นมีความสุข ทำให้บริษัท Orange & Partners ค่อย ๆ เติบโต และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวงจรความสุข (แบบเซอร์ไพรส์!) ให้เกิดขึ้นได้กว่า 16 ปี