บริษัทเจลาตินที่ “ค่อยๆ”โต
บริษัทเจลาตินที่ “ค่อยๆ”โต

บริษัทเจลาตินที่ “ค่อยๆ”โต

ปกติ Mission หรือพันธกิจองค์กร ต้องฟังดูยิ่งใหญ่ สง่างาม
แต่บริษัท Ina Food Industry (伊那食品工業株式会社)
บริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งในจ.นากาโนะเลือกที่จะตั้ง Mission ง่ายๆว่า
“มาสร้างบริษัทที่ดีกันเถอะ”

สินค้าของบริษัท Ina Food แห่งนี้ คือ “เจลาตินสกัดจากสาหร่าย”
ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Kanten(寒天)”
เป็นสินค้าที่ธรรมดามากๆ ตลาดก็อิ่มตัว
แต่บริษัทนี้ มีเรื่องราวที่ไม่ธรรมดาค่ะ
+++++++++++++++++++++++++++++++++
ครั้งหนึ่ง จู่ๆ รายการโทรทัศน์กล่าวแนะนำสินค้าบริษัท
ทำให้ยอด Order สั่งซื้อท่วมท้น ท่านประธานกลับบอกว่า ผลิตตามปกติ ไม่ต้องผลิตเพิ่ม
และปฏิเสธ Order ลูกค้าไป
จนสุดท้าย พนักงานทนไม่ไหว ต้องเป็นฝ่ายขอร้องให้ท่านสั่งเพิ่มการผลิตแทน

อีกครั้งหนึ่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมีสาขาทั่วประเทศสนใจสินค้า และขอนำไปจำหน่าย
ท่านประธานปฏิเสธยอดขายพันล้านเยนนั้น เพราะบริษัทต้องการจำหน่ายเอง
+++++++++++++++++++++++++++++++++
คุณผู้อ่านคงเริ่มสงสัยว่า บริษัทนี้ดีตรงไหน? ยิ่งท่านประธานนั่น…
ก่อนที่จะเฉลย ดิฉันขอบอกผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากท่านประธานและบริษัทนะคะ

“ยอดขายและกำไร Ina Food สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา “48 ปี” โดยที่ตัวเลขไม่เคยตกเลย”
” Market share ของสินค้าบริษัทสูงถึง 80% ในตลาดญี่ปุ่น และ 15% ในตลาดโลก”

บริษัทนี้ดีไหมคะ?
แต่ตัวเลขที่บริษัทอื่นๆ ต้องอิจฉาเหล่านี้
ไม่ใช่สิ่งที่ท่านประธาน Tsukakoshi Hiroshi (塚越寛) คาดหวัง

มันเป็นแค่ผลพลอยได้ต่างหาก…
+++++++++++++++++++++++++++++++++
ท่านประธานนิยามคำว่า “บริษัทที่ดี” ไว้ง่ายๆ
ทำอย่างไรให้พนักงานมีความสุข และให้คนอื่นๆ พูดถึงบริษัทว่า “บริษัทนี้ดีเนอะ”


ท่านทำอย่างไร?

  1. ค่อยๆ เติบโต
    ท่านประธานเน้นว่า เราจะไม่ไล่ตามกระแส ไม่ไล่ตามเศรษฐกิจ
    บางบริษัทเห็นเศรษฐกิจกำลังไปได้สวย จึงรีบขยายธุรกิจ รีบลงทุน
    แต่ท่านประธานไม่ได้คิดเช่นนั้น

ท่านเน้นการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
และต้องเป็นสิ่งที่บริษัทอื่นทำไม่ได้

ครั้งหนึ่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมีสาขาทั่วประเทศสนใจเจลาตินสาหร่ายของบริษัท
และขอนำไปจำหน่าย
เจลาตินของ Ina Food เป็นเอกลักษณ์และดีจนซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้านั้นยอมเสนอว่า
“จะให้โอนเงินก่อนก็ได้ จ่ายเงินสดก็ได้”
ยอดสั่งซื้อนั้นสูงเป็นพันล้านเยน

แต่ท่านประธานก็ปฏิเสธ เพราะท่านมองว่า
สินค้าที่เราอุตส่าห์คิด อุตส่าห์ทำ เราก็ต้องขายเอง
ไม่อย่างนั้น ลูกค้าจะไม่เข้าใจความยากลำบาก และความสุขของผู้ผลิต

ครั้งหนึ่ง จู่ๆ รายการโทรทัศน์ยอดนิยมรายการหนึ่งแนะนำว่า
เจลาตินสาหร่ายมีเส้นใยสูง ทำให้ทานแล้วผอม
ยอด Order สินค้าบริษัทท่วมท้น
แต่ท่านประธานกลับบอกว่า นี่เป็นแค่กระแส ผลิตตามปกติ ไม่ต้องผลิตเพิ่ม
และปฏิเสธ Order ลูกค้าไป

จนสุดท้าย พนักงานทนไม่ไหว ต้องเป็นฝ่ายขอร้องให้ท่านสั่งเพิ่มการผลิตแทน
ท่านยอมในที่สุด แต่ยืนยันว่า ไม่ต้องเพิ่มเครื่องจักรหรือ line การผลิต

สุดท้าย…ปีถัดมา กระแสเห่อเจลาตินก็ดับไป
โชคดีที่ท่านไม่ได้วิ่งไล่เห่อตามกระแส

  1. ไม่สร้างศัตรู
    ศัตรูในที่นี้ หมายถึง คู่แข่ง Supplier ตลอดจนสังคม

หากบริษัททำสินค้าเหมือนคู่แข่ง หรือดีกว่าคู่แข่ง หรือถูกกว่าคู่แข่ง
ยังไงก็ต้องแข่งกันอยู่ดี
ท่านประธานจึงเลือกเดินทางที่ “ปลอดคู่แข่ง”
กล่าวคือ พยายามสร้างสินค้าที่ยังไม่มีในโลกนี้ออกมาเรื่อยๆ
โดยที่สินค้านั้นเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

ในอดีต ญี่ปุ่นสามารถผลิตเจลาตินได้แค่เฉพาะฤดูเท่านั้น
แต่ Ina Food สามารถคิดค้นกรรมวิธีผลิตตลอดปีได้
หรือประสบความสำเร็จในการแปรรูปเจลาตินให้เป็นผงได้

คนที่อาจเป็นศัตรูกับบริษัทอีกคน คือ “Supplier”
ไม่กดราคาซื้อ ไม่กดดันงานจนเกินไป
ท่านประธานเชื่อว่า เราต้องเติบโตไปด้วยกัน

นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคม เช่น
สร้างสวนขนาดใหญ่ในโรงงาน ให้คนสามารถเดินเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจได้


หรือตอนเช้า บริษัทมีนโยบายไม่ให้พนักงานเลี้ยวขวาเข้าโรงงานโดยตัดถนนอีกเลน
เนื่องจากจะทำให้การจราจรติดขัด พนักงานต้องขับรถอ้อมไป

ตอนเช้า พนักงานก็จะช่วยกันทำความสะอาดชุมชนบริเวณรอบๆ โรงงาน
เวลาจอดรถ พนักงานก็จะไปจอดไกลๆ เพื่อให้ผู้ที่มาเยือนบริษัทได้มีที่จอดรถใกล้ๆ

สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ Ina Food และท่านประธานให้ความสำคัญมาตลอด
ค่อยๆ เติบโต ทำให้พนักงาน คู่ค้า สังคมมีความสุข
นี่อาจเป็นเคล็ด “ไม่” ลับ สำหรับธุรกิจอันยั่งยืนก็ได้ค่ะ ????

About brand: Kanten Papa
About company:Ina Food
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
(แถม)
กฎ 10 ข้อ ในการสร้างบริษัทที่ดี

  1. พยายามผลิตสินค้าที่ดีอยู่เสมอ
  2. แม้ว่าสินค้าขายดี ระวังอย่าผลิตมากเกิน หรือขายมากเกิน
  3. พยายามขายสินค้าราคาปกติ ไม่ลดราคา
  4. เมื่อออกแบบสินค้าหรือบริการ พยายามมองในมุมมองลูกค้า
  5. หมั่นรักษาให้โรงงาน สวน และร้านสะอาด สวยงาม
  6. ใช้แพ็คเกจจิ้งที่ดูมีค่า และโฆษณาที่สมเหตุสมผล
  7. ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น จิตอาสา
  8. ให้ความสำคัญกับ Supplier
  9. พนักงานทุกคนต้องเข้าใจ mission ของบริษัท และพยายามรักษาภาพลักษณ์ของบริษัท
  10. ลงมือทำอย่างต่อเนื่่อง

Refernce: i-Partner

Avatar photo
เจ้าของนามปากกา เกตุวดี กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดญี่ปุ่นที่เขียนบทความจากประสบการณ์ศึกษาและทำงานที่ญี่ปุ่นเกือบ 10 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเขียนประจำเว็บไซต์กรุงศรี กูรูด้านการตลาดที่พร้อมให้ความรู้และเรื่องราวสไตล์แดนปลาดิบ "หมั่นถามตนเองเสมอว่า ในวันนี้เราได้สร้างประโยชน์อะไรให้ลูกค้า/สังคมแล้วหรือยัง"