“เฮ้ย! วันนี้แดงเถือกเต็มกระดานเลย!”
“โอย เสียดาย พอขายปุ๊บราคาหุ้นขึ้นอีก”
…เสียงบ่นจากนักเล่นหุ้นสมัครเล่นรอบตัวดิฉันที่มักลอยมาเข้าหูเสมอ
วันนี้ ดิฉันมีเทคนิค “การเล่นหุ้น” และ “วิธีการใช้เงิน”
จากสุดยอดนักลงทุนชาวญี่ปุ่นมาเล่าให้ฟังค่ะ
(ใครที่ฉงนว่า จู่ๆ ดิฉันเล่าเรื่องการเงินทำไม ลองอ่านให้จบนะคะ)
+++++++++++++++++++++++++++
Arai Kazuhiro (新井和宏) ตั้งบริษัทลงทุนการเงินชื่อ Kamakura Toushin (鎌倉投信)
ขึ้นมาเมื่อปี 2008 วันๆ ก็ซื้อหุ้นขายหุ้น แล้วก็ออกไปประชุม
ภายใน 5 ปี เขาทำให้เงินลงทุนของบริษัทมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 170%
(หากใครคิดว่าน้อย อย่าลืมว่า เกิดวิกฤติการเงินลีห์แมน และซัพไพรม์แรงมากช่วงนั้น)

Arai บอกว่า เขามี “กฎการเล่นหุ้น” ทั้งหมด 2 ข้อ
- พนักงานภูมิใจไหมที่ได้ทำงานที่บริษัทนั้น
นี่เป็นคำถามที่ Arai ใช้เวลานัดคุยกับบริษัทนั้นๆ
ความภูมิใจ ไม่ได้มาจากชื่อเสียงอันโด่งดังของบริษัท แต่มาจากความรักในตัวบริษัทต่างหาก
Arai เจาะจงเลือกถามพนักงานหนุ่มสาว
บริษัทที่เขาจะลงทุน ต้องเป็นบริษัทที่พนักงานเด็กๆ รักและภูมิใจที่จะทำงานที่นั่น
พนักงานจะดูสดใส ดูมีความฝัน ดูมีพลังในการทำงาน
Arai ไม่ได้มองแค่ว่า บริษัทหนึ่งๆ ทำกำไรได้สูงเท่าไร
แต่วิเคราะห์ไปถึงขั้นที่ว่า บริษัทนั้นคำนึงถึง “พนักงาน” และ “สังคม” มากน้อยแค่ไหน
หากบริษัทสร้างคุณค่าทางสังคม และใส่ใจพนักงาน
เช่น จัดระบบสวัสดิการเพื่อพนักงานเป็นอย่างดี คำนึงถึงค.ปลอดภัยของพนักงาน
หรือมีวัฒนธรรมองค์กรที่คนรักกัน ร่วมมือร่วมใจกัน
มุ่งพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ดีเพื่อสังคม
พนักงานก็จะทำงานและสู้เพื่อบริษัท
ไม่ว่าเกิดวิกฤติอย่างไร บริษัทเหล่านี้ก็จะอยู่รอดได้
- ลงทุนทุกบริษัทเท่าๆ กัน
ปกติ นักลงทุนจะพยายามซื้อหุ้นตอนที่ราคาหุ้นต่ำที่สุด
และพยายามขายตอนที่ราคาตลาดสูงที่สุด
ตัวไหนน่าจะได้กำไรก็กว้านซื้อมากๆ
แต่ Arai ไม่ทำเช่นนั้น
เมื่อเขาได้บริษัทที่เขาต้องการไปลงทุนแล้ว
เขาจะกระจายเงินไปลงทุนในบริษัททุกแห่ง “เท่ากัน”
จากนั้น ทุกวัน เขาจะทำการซื้อขายหุ้นเหมือนคนอื่น
แต่เอากำไรไปกระจายให้ยอดเงินที่ลงทุนในทุกบริษัทเท่ากัน
ไม่มีการลงทุนบริษัทไหนมากหรือน้อยกว่า
ลองนึกถึงหมู่บ้านที่แต่ละบ้านมีเครื่องสูบน้ำ
บ้านไหนสูบน้ำได้เยอะกว่าบ้านอื่น
Arai จะปันน้ำที่สูบได้มากกว่าบ้านอื่น ไปแบ่งให้บ้านที่สูบน้ำได้น้อยกว่าคนอื่น
และควบคุมให้ทุกบ้านมีน้ำเก็บในปริมาณเท่ากัน
ใครเล่นหุ้นจะรู้ว่า กฎข้อนี้ พูดง่ายแต่ทำยาก…
ไม่สิ …ทำยากมากๆ
Arai ทำเช่นนี้ เพื่อขจัดความโลภที่อาจเข้ามาบังตาได้
ทำเงินได้ทีละน้อยๆ ไม่เป็นไร แต่ค่อยๆ เก็บ ค่อยๆ ลงทุนไป
ในเมื่อบริษัทที่เขา “เฟ้นคัดสรร” เพื่อลงทุนนั้นเป็นบริษัทที่สร้างสินค้าหรือบริการที่มีค่าต่อสังคม
ในระยะยาว บริษัทเหล่านี้ก็ต้องเติบโตและมีกำไร
++++++++++++++++++++
ดิฉันไม่ได้อยากเล่าเกี่ยวกับเทคนิคการลงทุนเล่นหุ้นของ Arai Kazuhiro
แต่อยากให้คุณผู้อ่านเห็นว่า เขาเอากำไรที่ได้ไปลงทุนทำอะไร?
คนปกติ นำเงินไปลงทุนต่อยอดเพื่อสร้างกำไรให้ตนเอง
ในขณะที่ Arai ตัดสินใจเอาไปปล่อยกู้ค่ะ …
Arai ปล่อยกู้ให้บริษัทเล็กๆ ที่มีความตั้งใจดีเพื่อสังคม แต่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้
เพราะเครดิตไม่ดีพอ
อย่างบริษัทเล็กๆ ที่ผลิตผ้าเช็ดตัวผ้าฝ้ายออร์แกนิค หรือบริษัทที่รับฟื้นฟูสภาพป่า
Arai จะปล่อยกู้ให้บริษัทเหล่านี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ
ช่วยให้บริษัทที่คิดดีทำดีเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้
++++++++++++++++++++
Arai ไม่ได้มีความคิดที่จะช่วยเหลือสังคมตั้งแต่ทำงาน
เขาต้องลำบากทำงานหาค่าเทอมเรียนตั้งแต่สมัยม.ปลายเพราะคุณพ่อประสบอุบัติเหตุ
ตอนหนุ่มๆ Arai ถึงกับคิดว่า “ฉันต้องมีเงิน ฉันจึงจะมีความสุข”
นั่นเป็นเหตุผลที่เขาตัดสินใจเข้าบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่
ค่าจ้างของบริษัทเหล่านี้สูงมาก
ชีวิตเขาอยู่แต่กับตัวเลข สมการ การคำนวณ
ความผิดพลาดครั้งหนึ่ง อาจหมายถึงบริษัทสูญเสียกำไรหลายพันล้านเยน
ตอนอายุ 39 ปี Arai เครียดและกดดันจนป่วยหนัก ไม่สามารถทำงานที่บริษัทนั้นต่อได้
จนต้องลาออกมา
ขณะรักษาตัว เขาได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับบริษัทเล็กๆ ในญี่ปุ่น
ที่รักพนักงานเหมือนคนในครอบครัวและมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อลูกค้า
เขาไม่เคยเจอ CEO ของบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ที่เขาเคยทำงานด้วย
วันๆ อยู่แต่หน้าคอม และตัวเลข
แต่ CEO บริษัทเล็กๆ เหล่านี้ ลงไปคลุกคลีอาบเหงื่อทำงานกับพนักงาน
พวกเขาอยู่หน้าเครื่องจักรด้วยกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนา
Arai สัมผัส “ชีวิต” และ “เลือดเนื้อ” ของบริษัทเหล่านั้น
“ชีวิต” ที่เขาไม่เคยสัมผัสตอนทำงานที่บริษัทการเงินใหญ่ชื่อดัง
เขาจึงตัดสินใจตั้งบริษัทลงทุนทางการเงิน
และหาเงินมาเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงบริษัทเล็กๆ เหล่านี้
++++++++++++++++++++++
Arai เชื่อมั่นในพลังของบริษัทที่ตั้งใจคิดดี และทำดีกับลูกค้า Supplier และสังคม
Arai เชื่อมั่นในจิตวิญญาณของพนักงาน ที่ภูมิใจในบริษัทและมุ่งมั่นทำงานเพื่อบริษัทนั้นๆ
กฎการกระจายเงินลงทุนให้เท่ากัน คงถูกออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้ตัว Arai เอง
ถูกอำนาจของเม็ดเงินเย้ายวน
เขาต้องระวังไม่เผลอลงทุนเพื่อแสวงหาความร่ำรวยของตัวเอง
จนลืมปณิธานของตนที่จะช่วยบริษัทเล็กๆ เหล่านั้น
ใครมองว่า โลกแห่งการเงินเป็นโลกที่อู้ฟู่ หวือหวา
เต็มไปด้วยผู้หวังปั้นรายได้ทางลัด
วันนี้ Arai Kazuhiro พิสูจน์แล้วว่า บริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่ง
สามารถ “ปั้นรายได้” จากโลกการเงินได้อย่างงดงาม
และสามารถนำไป “ปันให้สังคม”