สินค้าญี่ปุ่น
สินค้าญี่ปุ่น

ทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น

: แนวทางการตลาดที่ปรับใช้ได้กับตลาดไทยๆ

: แนวทางการตลาดที่ปรับใช้ได้กับตลาดไทยๆ

สังเกตไหมคะว่า เวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่น หรืออย่างน้อย ได้ของฝากจากญี่ปุ่น เราจะรู้สึกฮือฮาทุกครั้ง “โอ้โห กล่องเขาสวยจัง” “ว้าว ตุ๊กตาคิตตี้น่ารัก ญี่ปุ่นนี่อะไรๆ ก็น่ารักไปหมดเนอะ”

เรื่องความสวยงามหรือความน่ารักของสินค้าญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่คุณผู้อ่านสามารถมองเห็นและรับทราบกันดีอยู่แล้ว ดิฉันขอนำเสนอพลัง 4 ประการของคนญี่ปุ่นที่ทำให้เขาสร้างสินค้าน่าตรึงใจชาวไทยได้ขนาดนี้

1. พลังของความใส่ใจ

“จงใส่ใจประสบการณ์ลูกค้าทุกขั้นตอน” เวลาเห็นสินค้าญี่ปุ่น พวกเรามักอุทานว่า “โอ…เข้าใจคิดนะ”อันที่จริง คนญี่ปุ่นเข้าใจคิดและ “ตั้งใจคิด” สินค้าญี่ปุ่นแทบทุกชิ้น เต็มไปด้วยความคิดและความใส่ใจในทุกขั้นตอน แค่น้ำผลไม้ที่ขายในร้านสะดวกซื้อก็ใส่ใจลูกค้าแล้ว มองเผินๆ ก็แค่กล่องน้ำผลไม้ธรรมดาๆ กล่องหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว เจ้าน้ำผลไม้กล่องนี้ถูกคนญี่ปุ่นใส่ใจลงไป ดังต่อไปนี้

  1. ลูกค้าจะมองเห็นสินค้าเราบนชั้นวางไหม → ดีไซน์กล่องให้สดใสโดดเด่น
  2. ลูกค้าหยิบหลอดเจาะดื่ม → หลอดติดแนบข้างกล่อง ไม่ต้องแจกแยก ตัวพลาสติกหุ้มหลอดต้องบางพอที่จะให้ลูกค้าฉีกได้ง่าย แค่ใช้นิ้วกดหลอดลงไป ไม่ต้องดึงพลาสติกออกมา ไม่มีเศษขยะพลาสติกปลิว ตัวหลอดสั้นประหยัดพื้นที่ ดีไซน์ 2 ตอนสามารถดึงออกให้ยาวขึ้นได้ ปลายพลาสติกแหลมพอให้เจาะพลาสติกที่ปิดแก้วได้  

ทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่นทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น

  1. ลูกค้าดื่ม → รสชาติอร่อย
  2. ลูกค้าจะทิ้งขยะ → ลูกค้าสามารถดันหลอดให้สั้นและทิ้งลงในกล่องได้ คนญี่ปุ่นมักจะฉีกปีกกล่องและพับให้แบน เพื่อที่จะไม่เปลืองพื้นที่ถังขยะ ใต้ฝากล่องก็จะมีข้อความว่า “ขอบคุณนะที่ช่วยพับกล่อง” (ถ้าไม่ฉีกพับกล่อง ก็จะไม่เห็นข้อความตรงนี้ เป็นกิมมิคที่ซ่อนเล็กๆ)

ทำไมใครๆ ก็ติดใจสินค้าญี่ปุ่น

บริษัทญี่ปุ่นไม่ได้เน้นแค่การออกแบบรสชาติหรือตัวผลิตภัณฑ์ก่อน แต่เริ่มจากประสบการณ์ของลูกค้า และมองละเอียดตั้งแต่ก่อนลูกค้าซื้อ จนกระทั่งหลังซื้อแล้วยังเลยไปถึงตอนโยนทิ้งลงถังขยะ ความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นต้นทุนที่สิ้นเปลือง แต่สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้เช่นกัน ที่จะทำให้ลูกค้าตื่นเต้น และประทับใจในสินค้า

2. พลังของเรื่องราว

“หาเรื่องราวที่จะ Wow ลูกค้า หากไม่มี… จงสร้างขึ้นมา” จากพลังความใส่ใจในข้อ 1. ทำให้คนญี่ปุ่นมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับแบรนด์หรือตัวสินค้าที่พวกเขาภูมิใจที่จะเล่าให้ลูกค้าฟัง เรื่องราวเหล่านี้จะทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ เห็นคุณค่าของสินค้า หรือรู้สึกผูกพันเรื่องราวที่หยิบมาอาจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • กรรมวิธีการทำ: ตามเว็บไซต์บริษัท ป้ายคำอธิบายสินค้า หรือป้ายตรงชั้นวางสินค้าในญี่ปุ่น จะมีเรื่องราวความพิถีพิถันเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิต เช่น ผ้าพันคอผ้าฝ้ายธรรมดาๆ จะดูมีคุณค่าหากมีข้อความ 3-4 บรรทัดต่อไปนี้
  • “ผ้าฝ้ายผืนนี้ ผ่านการมัดย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติ หมักโคลนและต้มสีซ้ำถึง 3 รอบ และถักทอด้วยกี่ไม้โบราณเพื่อให้ได้สีสันและสัมผัสที่อบอุ่นนุ่มนวลเป็นธรรมชาติมากที่สุด”
  • ประวัติศาสตร์ ตำนาน ความเป็นมา: นำเสนอเสน่ห์และตำนานอันเก่าแก่ของร้านหรือแบรนด์นั้น เช่น
  • เอกลักษณ์ของร้านเราทั้ง 6 ประการ ได้แก่ 1. ไข่แดงที่แตกต่าง … ทางร้านร่วมกับฟาร์มไข่ไก่พัฒนาไข่แดงสูตรพิเศษ เราเลี้ยงไก่ในหุบเขาธรรมชาติด้วยหญ้าปลอดสารพิษและข้าวโพดคุณภาพดี เพื่อให้ไข่แดงมีสีสดสวย และรสชาติเข้มข้น … ” (อ้างอิงhttp://www.bunmeido.ne.jp/policy/)
  • หาจุดเด่นสร้างเรื่องราว: หากไม่มีกรรมวิธีหรือตำนานให้เล่า ก็หาจุดเด่นและสร้างวิธีเล่าขึ้นมาเอง เช่น เมืองยูบาริในฮอกไกโด เดิมเป็นเมืองที่เป็นเหมืองแร่ แต่เมื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ซบเซา คนอพยพย้ายออกไป ผู้อยู่อาศัยน้อย ทางเมืองขาดรายได้ เมืองยูบาริไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เหมือนโอตารุ หรือมีของทานอร่อยๆ ชื่อดังเหมือนซัปโปโร หรือฮาโกดาเตะ ในท้ายที่สุด ทางเมืองพบว่า ยูบาริเป็นเมืองที่มีอัตราการหย่าร้างต่ำที่สุด ทางเมืองดึงตัวเลขนี้มาสร้างเป็นจุดขายว่า “ยูบาริ เมืองแห่งความรัก” และรณรงค์ให้หนุ่มสาวญี่ปุ่นมาจดทะเบียนสมรสกันที่นี่ แคมเปญดังกล่าวประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เดินทางมาที่ยูบาริได้อย่างงดงาม

3. พลังของดีไซน์

“จงให้ความสำคัญกับการดีไซน์” หนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงในญี่ปุ่นมากๆ คือ “มนุษย์ตัดสินใจจากรูปลักษณ์ภายนอกกว่า 90 เปอร์เซนต์”คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับดีไซน์และรูปลักษณ์มาก การจ้างดีไซเนอร์ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แม้แต่สินค้าที่ดูธรรมดาๆ อย่างเต้าหู้ แต่เมื่อใส่พลังดีไซน์เข้าไป ก็ทำให้เต้าหู้แบรนด์น้องใหม่จากเกียวโตเป็นที่พูดถึงในตลาดและทำยอดขายได้สูงมากโดยใช้งบการตลาดเพียงน้อยนิด“เต้าหู้รูปหล่อ” (Otokomae Tofu) เป็นเต้าหู้คุณภาพดี รสชาติกลมกล่อมมาก สามารถตักทานเปล่าๆ ได้ แต่ราคาสูงกว่าแบรนด์อื่นในตลาดถึง 3 เท่า หากวางขายด้วยวิธีปกติ แม่บ้านอาจรู้สึกว่าราคาสูงเกินไป ไม่กล้าลอง แต่ทางบริษัทใช้แพ็คเกจรูปหน้าหนุ่มหล่อพิมพ์บนฝา เพียงเท่านี้ ก็สามารถทำให้แม่บ้านอมยิ้มและเผลอเอื้อมไปหยิบเต้าหู้รูปหล่อลงตะกร้าช็อป ปิ้งโดยที่ทางบริษัทไม่จำเป็นต้องตั้งเคาน์เตอร์ให้ชิมเลย

สินค้าญี่ปุ่น
สินค้าญี่ปุ่น

(Pic source : http://commons.wikimedia.org/)

ไม่เพียงแค่บริษัทเอกชนญี่ปุ่นเท่านั้นที่เห็นความสำคัญของการดีไซน์ พิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งวัดญี่ปุ่นก็ให้บริษัทดีไซน์ช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์และแพ็คเกจจิ้ง ภาพด้านล่าง คือ ยางรัดผมและผ้าเช็ดหน้า ของที่ระลึกจากวัดโคฟุกุจิ จังหวัดนารา …ขอย้ำอีกครั้งว่า สินค้าทั้ง 2 ชิ้น เป็นของที่ระลึกที่จำหน่ายใน “วัด” ค่ะ

kofukuji-souvenir

(Pic Source: (@hajyoubou) | Twitter)

ลายสีแดง-ม่วงอันสวยงามข้างต้น เกิดจากการที่ดีไซเนอร์สะดุดลวดลายผ้านุ่งของพระโพธิสัตว์ชื่อดังของวัด และนำมาสกัดลวดลายออกมา แต่งแต้มสีให้สวยงาม จากลายผ้านุ่งที่ไม่มีใครสนใจ ก็กลายมาเป็นลวดลายบนถุงของฝากและของที่ระลึกอันสวยงามที่จำหน่ายในวัด

Ashura-KOFUKUJI-TEMPLE

(ภาพพระโพธิสัตว์และลายบนผ้านุ่ง (Pic Source.: http://www.kohfukuji.com)  

4. พลังของการโฟกัส

“จงเลือก” ร้านอาหารไทยหลายแห่งมักทำเมนูเล่มหนักๆ หนาๆ หากพลิกดู เราจะพบกับ “ส้มตำไทย ซุปผักโขม พิซซ่า ลาซานญ่า ราดหน้าปลาเต้าซี่ หมี่ฮ่องกง ฯลฯ” วาไรตี้ตั้งแต่ไทย ฝรั่ง กระทั่ง จีน คนไทยชอบความหลากหลายและทางร้านก็อยากเอาใจลูกค้า แต่น่าฉงนว่า ร้านอาหารเหล่านี้บริหารจัดการวัตถุดิบให้สดใหม่พร้อมปรุงได้อย่างไร ต้นทุนที่สูญเสียไปจากการกำจัดวัตถุดิบที่ใช้ไม่หมดจะมากเพียงไหนบริษัทญี่ปุ่นจะโฟกัสกับธุรกิจของตัวเองมาก การโฟกัสหรือการมีแก่นหลักของธุรกิจ จะทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายว่า บริษัทนั้นขายอะไร ตัวบริษัทเองก็จะสามารถทุ่มพลังและการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ไปในแนวทางเดียวกันได้ เช่น ร้านขายข้าวหน้าเนื้อ ที่โฟกัสกลุ่มลูกค้ามนุษย์เงินเดือนผู้เร่งรีบ แทนที่ร้านข้าวหน้าเนื้อจะคิดว่าตนควรจะทำเมนูอะไรใหม่ๆ เขาจะมุ่งคิดว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถอิ่มท้องอย่างเอร็ดอร่อยภายในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุด ผลลัพธ์คือ การคิดระบบให้พนักงานสามารถเสิร์ฟข้าวหน้าเนื้อได้ภายใน 2 นาทีหลังจากลูกค้าสั่ง โต๊ะทำเป็นเคาน์เตอร์เพื่อให้พนักงานคนเดียวสามารถดูแลลูกค้าได้หลายๆ คนพร้อมกัน เก้าอี้ไม่มีพนัก เพราะประหยัดพื้นที่ และลูกค้ารีบทานรีบไป ไม่ต้องนั่งนานตัวอย่างของพลังโฟกัสอื่นๆ เช่น

Obon-de-Gohan

(ภาพพระโพธิสัตว์และลายบนผ้านุ่ง (Pic Source.: http://obon-de-gohan.com/)

  • ร้านร้อยเยนที่ขายแค่สินค้าทุกอย่างราคา 100 เยน เน้นสินค้านานาชนิด คุณภาพไม่สูงมาก แต่ราคาถูก
  • ร้านอาหาร “Obon de Gohan” ขายอาหารเป็นเซ็ทเท่านั้น แต่อาหารทุกรายการจะสมดุลทางด้านโภชนาการ ดีต่อสุขภาพ จุดเด่นคือ อาหารทุกเมนูมีผักเป็นส่วนประกอบอยู่มาก พนักงานจะจัดอาหารเสิร์ฟบนถาดไม้
  • ร้แบรนด์ MUJI ที่โฟกัสไปที่ความเรียบง่าย แม้สินค้าจะมีตั้งแต่กล่องใส่ไม้จิ้มฟัน อาหาร จนถึงจักรยาน แต่สินค้าทุกตัวมีจุดเด่นที่พอลูกค้าเห็น ก็จะรู้ว่านี่คือสินค้า MUJI

กล่าวโดยสรุป พลังการโฟกัส ไม่ได้หมายถึงการเน้นแค่สินค้าประเภทเดียว หรือลูกค้าแค่เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นการหาธีมหลักหรือคุณค่าหลัก (Core Value) ที่จะนำเสนอให้ลูกค้าให้เจอ เมื่อพบแล้ว ก็ฝึกฝนพัฒนาทักษะในการพัฒนาสินค้าและแบรนด์นั้นๆ จนชำนาญบริษัทไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิต ตลอดจนวัตถุดิบและสินค้าที่ดีเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว หากนำพลังเหล่านี้ไปเสริมสร้างแบรนด์และตัวสินค้า ดิฉันมั่นใจว่า ภายในปีหน้าเราจะได้ยินคนญี่ปุ่นฉงนว่า “ทำไมสินค้าไทยถึงน่าติดใจจังนะ?” กันแน่นอนค่ะ

Avatar photo
เจ้าของนามปากกา เกตุวดี กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดญี่ปุ่นที่เขียนบทความจากประสบการณ์ศึกษาและทำงานที่ญี่ปุ่นเกือบ 10 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเขียนประจำเว็บไซต์กรุงศรี กูรูด้านการตลาดที่พร้อมให้ความรู้และเรื่องราวสไตล์แดนปลาดิบ "หมั่นถามตนเองเสมอว่า ในวันนี้เราได้สร้างประโยชน์อะไรให้ลูกค้า/สังคมแล้วหรือยัง"