หากท่านเป็นดีไซน์เนอร์ที่คุ้นชินกับการออกแบบบ้าน โรงแรม…
แต่วันหนึ่ง มีคนขอให้ท่านมาออกแบบรถไฟ
ท่านจะทำอย่างไร?
ภาพจาก: japanstation.com/Photo Courtesy of JR Kyushu
หนำซ้ำ รถไฟขบวนนั้น เป็นรถไฟหรู ที่พ่วงมากับความหวังว่า รถไฟสายนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจในเมืองนั้นดีขึ้น ท่านจะเริ่มต้นคิดคอนเซ็ปต์อย่างไร?
ยิ่งกว่านั้น ขบวนรถไฟมีความกว้างแค่ 2.7 เมตร หักลบกำแพงสองข้าง เหลือความกว้างของห้องพักแค่ 1.06 เมตรเท่านั้น ท่านจะออกแบบรถไฟขบวนนี้อย่างไร ให้ดูหรู และรู้สึกสบาย
นี่คือโจทย์ทั้งหมดที่มิโตะโอกะ เอจิ … นักออกแบบภายใน (Interior Designer) ได้รับจากการรถไฟคิวชู
โบกี้รถไฟชั้น 1 ภาพจาก: japanstation.com/Photo Courtesy of JR Kyushu
การรถไฟคิวชูต้องการสร้างรถไฟขบวนนี้ ให้คล้ายกับ Oriental Express ขบวนรถไฟหรูในยุโรป โดยมิโตะโอกะต้องออกแบบรถไฟขบวนนี้ “ทั้งขบวน” ไม่ว่าจะเป็นห้องพักของแขก ห้องน้ำ ห้องครัว บาร์ ตลอดจนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น พื้น เพดาน แสงไฟ
มิโตะโอกะดีไซน์เพดานรถไฟให้เป็นทรงโค้ง เพื่อให้แขกรู้สึกไม่อึดอัด
เขาดัดแปลงพื้นที่ตู้รถไฟให้เป็นที่รับประทานอาหารในตอนกลางวัน และกลายเป็นบาร์ในตอนกลางคืนได้
กระจกพ่นทรายเป็นลายดาวแบบญี่ปุ่น เมื่อมีแสงแดดส่องเข้ามา ลายก็จะสะท้อนบนพื้น จากพื้นไม้เรียบ ๆ กลายเป็นพื้นที่มีลายดาวพร่างพราย
ภาพจาก: Trainfrontview
หน้าต่างในห้องนอน จะเตี้ยลงมากว่าปรกติ แม้แขกเอนหลังพักบนเตียง ก็ยังสามารถมองไปที่หน้าต่างเพื่อชมวิวด้านนอกได้
หากใครสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า แม้แต่หัวน็อตทั้งหมดในขบวนรถไฟนี้ เป็นรูปดาว … แน่นอนว่า มิโตะโอกะสั่งทำหัวน็อตนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้เข้ากับขบวนรถไฟ 7 ดาวนี้
น็อตรูปดาวบนรถไฟ ที่มิโตะโอกะสั่งทำพิเศษ ภาพจาก:trendy.nikkeibp
อะไรคือเบื้องหลังความละเอียดและใส่ใจเช่นนี้ ?
1. ไม่ได้ออกแบบสินค้า แต่คิดถึงสิ่งที่ลูกค้าจะดีใจ
เวลามิโตะโอกะออกแบบ หรือเมื่อเขาต้องตัดสินใจเลือกวัสดุหรือดีไซน์บางอย่าง เขาจะถามตนเองเสมอว่า ตัวเลือกไหนจะดีกับลูกค้าและคนรุ่นหลังมากกว่ากัน
เช่น ตอนเขาออกแบบขบวนรถไฟ Aso-boy! ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กและครอบครัว
Japonismo
สิ่งที่เป็นที่ถกเถียงในตอนนั้น คือ จะใช้พื้นเป็นพลาสติกหรือพื้นไม้ ทางการรถไฟคิวชูเห็นว่า หากใช้พื้นพลาสติก จะดูแลได้ง่ายกว่าและต้นทุนต่ำกว่า แต่มิโตะโอกะเองมองว่า ถ้าเทียบพื้นไม้กับพื้นพลาสติกแล้ว เด็ก ๆ น่าจะชอบพื้นไม้กว่ามาก เขาจึงตัดสินใจเลือกพื้นไม้
เช่นเดียวกับตอนออกแบบรถไฟ 7 ดาว มิโตะโอกะคิดว่า ทำอย่างไรจะให้ผู้โดยสารสนุกสนานไปกับการเดินทาง เขาจึงแอบซ่อนดาวต่าง ๆ ไว้ตามเครื่องประดับและสิ่งของในขบวนรถไฟ เช่น ลายผ้าปูโต๊ะ หัวน็อต รูปทรงของลิ้นชัก ทุกครั้งที่ผู้โดยสารพบดาวรูปแบบใหม่ ๆ พวกเขาจึงรู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน และลืมเรื่องความคับแคบในรถไฟไป
2. หาจุดเด่นเฉพาะของสินค้านั้น
หากมิโตะโอกะมองรถไฟของเขาเป็นแค่รถไฟ ในสมองเขาคงมีแต่ข้อจำกัด … ตัวรถไฟก็แคบ รถก็เคลื่อนขบวนตลอด ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ ผู้โดยสารคงอาบน้ำลำบาก ฯลฯ
แต่มิโตะโอกะกลับกล่าวว่า “รถไฟขบวนนี้ เอาชนะรีสอร์ทหรูได้แน่ครับ”
เขามองว่า ไม่ว่าโรงแรมนั้นจะหรูหราขนาดไหน แต่วิวจากห้องพักก็ยังคงเหมือนเดิม
ส่วนรถไฟนั้น ดีกว่าโรงแรมเยอะ เพราะทิวทัศน์เปลี่ยนไปตลอดเวลา
หากเป็นรถไฟ ไม่ว่าวันนั้น ฝนพรำ หรือหิมะตกปรอย ๆ ในวันที่อากาศไม่ดีเท่าไร การนั่งรถไฟ ก็ยังดีกว่านั่งในโรงแรมเฉย ๆ
แม้รถไฟอาจมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ แต่หากทำการบริการและคุณภาพอาหารให้ดี มิโตะโอกะเชื่อว่า รถไฟต้องสามารถสู้กับรีสอร์ทได้อย่างแน่นอน
จุดเด่นของดีไซเนอร์ญี่ปุ่น คือ พวกเขาไม่ได้มองที่ข้อจำกัด และไม่ได้เห็นแต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค แต่มองหาโอกาสก่อน กรณีนี้ มิโตะโอกะพบสิ่งที่คู่แข่งของเขา กล่าวคือ โรงแรมชั้นนำ ไม่สามารถเลียนแบบรถไฟได้ … นั่นคือ ทิวทัศน์อันสวยงามที่เปลี่ยนไปทุกครั้งที่มองออกนอกหน้าต่าง เขาจึงดึงจุดเด่นข้อนี้ขึ้นมามากขึ้น
รถไฟ 7 ดาวจึงมีหน้าต่างที่อยู่ในระดับเดียวกับที่นั่ง หรือตรงท้ายขบวน จะเป็นกระจกใสแผ่นใหญ่ เพื่อให้ผู้โดยสารชมทิวทัศน์ได้ดีที่สุด
ภายในรถไฟ หน้าต่างอยู่ระดับเดียวกับที่นั่ง เพื่อให้เห็นทิวทัศน์/ภาพจาก: National Geographic
3. ก้าวข้ามอุปสรรค
ในการออกแบบรถไฟ 7 ดาวนั้น มิโตะโอกะต้องทำงานร่วมกับคนเป็นจำนวนมาก เช่น ช่างแกะสลัก ช่างไม้ ช่างไฟ เชฟที่จะทำอาหารบนรถไฟ และแน่นอน … การรถไฟคิวชู
แม้มิโตะโอกะจะมีไอเดียดีเท่าไหร่ แต่หากคนอื่น ๆ รู้สึกว่ายุ่งยาก หรือเกินความสามารถตนเอง รถไฟ 7 ดาวที่งดงามอย่างแตกต่าง คงไม่เกิดขึ้นแน่
ในฐานะดีไซน์เนอร์ มิโตะโอกะจึงมุ่งมั่นออกแบบรถไฟที่ทั้งผู้โดยสาร และช่างฝีมือ จะร้อง “ว้าว”
เมื่อช่างฝีมือ “ว้าว” พวกเขาก็เริ่มอยากจะทำ
เทคนิคหนึ่งของมิโตะโอกะที่ทำให้ลูกทีมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ การทำให้ทีมเห็นภาพว่า ผลงานขั้นสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ตลอดจน รถไฟขบวนนี้จะสุดยอดแค่ไหน และจะทำให้ผู้โดยสารยิ้มได้กว้างเพียงใด หากพวกเขาทำได้ตามนั้นจริง
ตอนนำเสนอดีไซน์แก่ลูกค้า มิโตะโอกะจะนำเสนอไอเดีย 3 แบบ ไอเดียที่ 1 เป็นไอเดียที่แตกต่างจากสินค้าเดิมที่เคยมีมา เป็นไอเดียที่เป็นเอกลักษณ์ ไอเดียที่ 2 เป็นไอเดียที่ปรับปรุงจากสินค้าในปัจจุบัน ส่วนไอเดียที่ 3 จะเป็นไอเดียที่ใกล้เคียงกับสินค้าเดิมนี้
เมื่อเขานำเสนองาน ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยากได้ไอเดียที่ 1 แต่ข้อเสียคือ ไอเดียนี้จะเป็นดีไซน์ที่ทำได้ยากที่สุด ในตอนนั้น เมื่อทุกคนรู้สึกกระหายอยากได้ไอเดียที่ 1 แล้ว มิโตะโอกะจะบอกกับลูกค้าว่า “เรากำลังจะสร้างอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน” เพื่อให้ทุกคนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมองอุปสรรคเป็นความท้าทาย
แม้ราคาค่าที่พักขบวนรถไฟ 7 ดาวนี้ จะสูงถึง 1-3 แสนบาท แต่ก็มีคนจองเต็มจนล้นทุกรอบจนถึงบัดนี้
จากเดิมที่รถไฟเป็นเพียงขบวนรถที่ขนส่งคนให้ไปสู่สถานที่ท่องเที่ยว มิโตะโอกะได้เปลี่ยนให้รถไฟ 7 ดาวนี้ เป็นรถไฟที่ผู้คนต้องการขึ้น และได้สัมผัสประสบการณ์
สรุป:
- ทุ่มเทเพื่อลูกค้า ยึดความสุขลูกค้า ก่อนเรื่องต้นทุนและตัวเลข
- มองจุดเด่นที่เฉพาะสินค้าตนมีให้ออก อะไรคือจุดเด่นที่รถไฟเหนือกว่าโรงแรมหรือที่พักอื่น
- สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีม ให้พวกเขาเห็นว่า ตนเองจะได้เป็นส่วนร่วมของงานที่สนุก และท้าทาย