ชาวนาผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริหารญี่ปุ่น (2)
ชาวนาผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริหารญี่ปุ่น (2)

ชาวนาผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริหารญี่ปุ่น (2)

ในตอนก่อน ดิฉันได้เล่าเรื่อง Ninomiya Sontoku


ชาวนาผู้ฟื้นฟูแผ่นดินในหลายเมืองญี่ปุ่นให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น

ในยุคที่ระบบศักดินายังศักดิ์สิทธิ์มาก
การที่ Ninomiya ซึ่งเป็นเพียงชาวนา
แต่กลับได้รับความไว้วางใจจากเจ้าเมืองผู้มีศักดินาสูงส่ง
ย่อมแสดงถึงความสามารถของ Ninomiya ได้เป็นอย่างดี
ขออนุญาตเล่าตอนต่อนะคะ
++++++++++++++++++++++++++++++++++

“่พ่อค้าข้าวขี้โกง”


พ่อค้าข้าวคนหนึ่ง ประสบเหตุเภทภัยทางครอบครัว
ทำให้เกือบล้มละลาย

เขาเผอิญรู้จักกับสหายสนิทของ Ninomiya
และรู้ชื่อเสียงเรื่องความสามารถในการปฏิรูปที่ดิน
สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่และผู้คน
จึงติดต่อขอให้ Ninomiya ช่วย

Ninomiya ทราบว่า พ่อค้าคนนี้ ในอดีตเคยร่ำรวยมาก
แต่รวยเพราะขายข้าวและธัญพืชในราคาสูงมาก ช่วงที่คนกำลังขาดแคลน

Ninomiya จึงกล่าวแก่พ่อค้าทีใกล้ล้มละลายคนนั้นว่า
“วิธีแก้ คือ ขายทรัพย์สินที่มีให้หมด และจงเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่”
การที่พ่อค้าสูญเสียเงินทองไปเยอะ เป็นเพราะเงินทองเหล่านั้นไม่ใช่ของพ่อค้า
ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ ก็เป็นเงินสกปรก จึงควรขายไปเสีย

รายได้ที่ได้มาอย่างถูกธรรมเนียม ไม่ขัดกับหลักคุณธรรมเท่านั้น
ถึงจะเป็นของเรา
รายได้ที่มาจากเรื่องมิชอบธรรม ไม่ใช่ของเราที่แท้จริง

พ่อค้าขี้โกง ตัดสินใจแจกจ่ายทรัพย์สินทั้งหมดให้ชาวบ้าน
และเริ่มประกอบอาชีพถ่อเรือขนส่งสินค้า “อย่างสุจริต”
ชาวบ้านที่เห็นเขากลับตัวกลับใจ ก็เริ่มให้ความช่วยเหลือ
ในที่สุด พ่อค้าก็ก่อร่างสร้างตัวได้ใหม่อีกครั้ง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

“หน้าที่ข้าราชการ”

ในปี 1836 เกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่หลวงทั่วญี่ปุ่น
เจ้าเมืองจึงรีบส่ง Ninomiya ไปยังเมือง Odawara
เปิดคลังเสบียงเพื่อแจกจ่ายธัญพืชแก่ชาวบ้านผู้หิวโหย

เมื่อไปถึง ข้าราชการประจำเมืองปฏิเสธโดยอ้างว่า
“ไม่มีหนังสือแจ้งจากท่านเจ้าเมือง”
Ninomiya ตอบว่า
“ไม่เป็นไร ระหว่างรอทางเราทำหนังสือไปยังท่านเจ้าเมืองเพื่อขอเอกสารนั้น
พวกท่าน ในฐานะ “ข้าราชการ” ….ผู้รับใช้พระราชา ผู้รับใช้ประชาชน
ก็ควรจะอดอาหารตามเช่นกัน

ขณะที่ประชาชนกำลังทุกข์ยาก หิวโหย
ท่าน…ผู้กำลังรับใช้ “ประชาชน” จะอยู่ดีกินดีได้อย่างไร”

เมื่อข้าราชการประจำเมืองได้ยินดังนั้น
ก็รีบเปิดคลังเสบียงแจกจ่ายให้ประชาชนทันที

Ninomiya สอนข้าราชการเหล่านั้นว่า …
“เกิดภาวะอดอยาก คลังของเราว่างเปล่า ประชาชนไม่มีอะไรกิน
เราจะโทษใครถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง

หน้าที่ของพวกเรา คือ ดูแลประชาชน
ปกป้องพวกเขาจากเรื่องชั่วร้าย
และดูแลให้พวกเขามีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข

แต่ดูพวกท่านตอนนี้…คนอดอยากล้มตายอยู่ตรงหน้า
ท่านยังเมินเฉยได้
พวกท่านก็สมควรตายเช่นเดียวกัน
(ไม่ได้ด่าด้วยความโกรธ แต่ด้วยความหมายว่า
หากประชาชนตาย ผู้รับใช้ประชาชนอย่างข้าราชการ ก็ควรตายด้วย)

ความอดอยากนั้น เกิดจากความฟุ่มเฟือยในยุคที่อุดมสมบูรณ์
ตอนที่มีข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ พวกท่านใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย
ไฉนตอนเกิดเภทภัย เรากลับนิ่งเฉยเสียเล่า”

ข้าราชการทั้งหลายฟังแล้วก็คิดได้
+++++++++++++++++++++++++++++
นอกจากให้เสบียงคนแล้ว
Ninomiya แก้ปัญหาความอดอยากในเมือง Odawara ด้วยการแบ่งคนเป็น 3 ประเภท

  1. ผู้ที่ไม่ลำบาก (มีเงิน มีอาหารกิน)
  2. ผู้ที่ลำบากน้อย (พอมีเงินและอาหารอยู่บ้าง)
  3. ผู้ที่ลำบาก (ไม่มีเงิน ไม่มีอาหารกิน)

เขาแบ่งข้าวให้คนกลุ่มที่ 3 (ผู้ลำบาก) วันละ 1 กระป๋อง
พร้อมทั้งบอกผู้คนว่าอย่าหมดหวัง

จากนั้น เขาขอให้คนกลุ่มที่ 1&2 (คนทีไม่ลำบาก) ให้คนกลุ่มที่ 3 ยืมเงิน
โดยไม่คิดดอกเบี้ย
กลุ่มผู้ที่ไม่ลำบากเท่าไรก็กลัวว่า จะไม่ได้เงินคืน
กลัวตนเองไม่มีเงินใช้

Ninomiya จึงกล่าวว่า
“ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ พวกเราอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
ดื่มน้ำบ่อเดียวกัน
เราเข้าใจว่า พวกท่านคงโกรธว่า ในกลุ่มคนที่ลำบาก
มีพวกคนขี้เกียจอยู่ด้วย
แต่การบริจาคข้าวให้พวกเขาอยู่รอดต่อไปได้
ก็เป็นการแสดงความเมตตา คือความรักที่มนุษย์ควรมีให้แก่กัน”

หลังจากนั้น ภัยพิบัติก็ค่อยๆ ซาลง
คนในหมู่บ้านก็ร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันมากขึ้น
และไม่มีผู้ใดตายจากความอดอยากอีก
+++++++++++++++++++++++++++++
Ninomiya สอนให้พวกเราเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต อยู่บนคุณธรรม
หว่านพืชอย่างใด ได้ผลอย่างนั้น

ท่านยังสอนให้คนตระหนักถึงหน้าที่ที่พึงมี
และการเน้นทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ก่อนตนเองเสมอๆ

นี่แหละค่ะ บุคคลที่เราควรเอาเป็นแบบอย่าง

Cr: ภาพ
http://mizo719.blog.fc2.com/blog-entry-460.html
http://www.cocoro-skip.com/word/50001.html
http://www.cocoro-skip.com/meigen/30004.html
http://yoshiaki-watanabe.cocolog-nifty.com/blog/2013/03/post-7711.html
http://www.kobelcosys.co.jp/column/president/238/

Avatar photo
เจ้าของนามปากกา เกตุวดี กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดญี่ปุ่นที่เขียนบทความจากประสบการณ์ศึกษาและทำงานที่ญี่ปุ่นเกือบ 10 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเขียนประจำเว็บไซต์กรุงศรี กูรูด้านการตลาดที่พร้อมให้ความรู้และเรื่องราวสไตล์แดนปลาดิบ "หมั่นถามตนเองเสมอว่า ในวันนี้เราได้สร้างประโยชน์อะไรให้ลูกค้า/สังคมแล้วหรือยัง"