ชายผู้ทำให้คนที่มาพบเขา
ชายผู้ทำให้คนที่มาพบเขา

ชายผู้ทำให้คนที่มาพบเขา

รู้สึกสนุกเหมือนมาดิสนีย์แลนด์

รู้สึกสนุกเหมือนมาดิสนีย์แลนด์

“หมื่น แสน ล้าน …”


“สี่แสนสองหมื่น … ห้าพันบาทครับ”


นี่คือภาษาไทยคำแรก ๆ ที่อิโตะซังพูดให้ดิฉันฟังอย่างคล่องแคล่ว


สมกับที่เป็นนักประเมินราคา
ดิฉันได้ยินเรื่องราวของ “อิโตะซัง” ตอนประชุมกับบริษัท KOMEHYO
ร้านจำหน่ายสินค้ามือสองอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น
(อ่านว่า โค-เม-เฮียว)


ทีมงานชาวไทยเล่าให้ดิฉันฟังว่า


“ที่บริษัท มีคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เป็นคนตีราคาสินค้า
เวลาลูกค้าเอาของแบรนด์เนมมาขาย
แกมองปราดเดียว รู้รุ่นสินค้า รู้ราคาหมด
มองแว้บเดียวแล้วบอกราคาได้เลย”
ที่น่าแปลก คือ เวลาไปออกงาน
ลูกค้าชาวไทยบางคน ติดอกติดใจกับการพูดคุยกับอิโตะซังมาก
แม้โต๊ะอื่นว่างก็ไม่ยอมไป จะรอคุยกับอิโตะซัง
น่าสนใจ …
หลังประชุม ดิฉันขอทาง KOMEHYO
นัดสัมภาษณ์อิโตะซังเป็นพิเศษ
โดยไปหาแกที่ออฟฟิศ KOMEHYO ที่เซ็นทรัลเวิลด์
จนกลายมาเป็นบทสัมภาษณ์ฉบับนี้
+++


คุณซาโตชิ อิโตะ … เข้ามาทำงานบริษัท KOMEHYO ตั้งแต่ 16 ปีที่แล้ว
อิโตะซังเริ่มจากเป็นพนักงานขายหน้าร้านก่อน
นั่นทำให้เขาต้องเริ่มศึกษาจุดเด่นสินค้า ต้องจดจำแบรนด์เนมต่าง ๆ
สินค้าที่บริษัทจำหน่าย ก็หลากหลายตั้งแต่เครื่องประดับ กระเป๋าแบรนด์เนม
กล้อง นาฬิกา ตลอดจนเสื้อผ้าแบรนด์ดัง ๆ
พอทำงานได้ 4-5 ปี
ถึงค่อย ๆ เริ่มเข้าสู่การเป็น Buyer
เมื่อลูกค้านำสินค้ามาขาย Buyer จะเป็นคนพิจารณาว่า
สินค้าชิ้นนั้นเป็นของแท้หรือไม่
มีตำหนิตรงที่ใด รุ่นไหน ปีไหน น่าซื้อไว้หรือไม่
ควรตั้งราคาเท่าไรดี
เมื่อเริ่มเชี่ยวชาญ อิโตะซังก็ถูกส่งไปดูตลาดประมูลราคา
ที่นั่น จะมีบริษัทนำสินค้าจำนวนมากมาประมูลขาย
Buyer จากทั่วทุกบริษัทในญี่ปุ่น ก็จะมาเคาะราคากัน
อิโตะซังต้องดูและตีราคาสินค้าเป็นจำนวนมาก
ครั้งที่มากที่สุด คือ 30,000 – 40,000 ชิ้นใน 1 เดือน
สินค้าที่ผ่านตาเขา เฉลี่ยวันละหนึ่งพันกว่าชิ้นทีเดียว
ในบริษัท มี Buyer ที่ทำได้ในระดับอิโต้ซังเพียงแค่ร้อยกว่าคนเท่านั้น
เมื่อดิฉันถามว่า เขาท่องจำรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและราคาได้อย่างไร
(ไม่นับการสอบให้ผ่านแต่ละด่าน ๆ เป็นสิบด่าน)
อิโตะซังบอกเพียงว่า “หาความสนุกในงานให้เจอ”
ท่องได้ จำได้ ก็ดีใจ
ท่องได้เร็วขึ้น จำได้มากขึ้น ก็ดีใจ
ท่องไม่ได้ เครียด ก็ไปพัก
แล้วกลับมาทำใหม่
การมาเมืองไทย ทำให้อิโตะซังกลับมาเจอและได้พูดคุยกับลูกค้าอีกครั้ง
ความสนุกของงานนี้ คือ การได้พบเจอและพูดคุยกับผู้คนที่หลากหลาย
“ผมอยากให้ลูกค้ารู้สึกสนุกเหมือนมาดิสนีย์แลนด์”
อิโตะซังกล่าวพร้อมรอยยิ้มตาหยี
ในบทสนทนา ดิฉันสังเกตว่า
อิโตะซังใช้คำว่า “Relationship” บ่อยมาก
ระหว่างเขากับลูกค้า มิใช่แค่การตีราคาแล้วแยกย้าย
แต่ คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
เวลาลูกค้ามา อิโตะซังจะสังเกตว่า ลูกค้าเป็นคนแบบไหน
และปรับบทสนทนาให้เข้ากับลูกค้าแต่ละคน
บางคน แกก็ชวนคุยเรื่องอาหารเด็ดในญี่ปุ่น
(อาจถึงขั้นแนะนำร้านอาหาร หรือโทรถามเพื่อนญี่ปุ่นให้)
บางคน แกจะคุยถึงสถานที่ท่องเที่ยว
บางคน อิโตะซังอาจถามเรื่องกระเป๋าใบที่ลูกค้าตัดสินใจนำมาขาย
เพราะอาจมีความทรงจำบางอย่างอยู่ในกระเป๋าใบนั้น
จริง ๆ แล้ว การตีราคาสินค้าใช้เวลาเพียง ไม่นาน
แต่อิโตะซังจะชวนคุยไปเรื่อย ๆ เพื่อเข้าใจลูกค้ามากขึ้น
แกพยายามจำลูกค้า และพยายามจำให้ได้ถึงขั้นว่า
ครั้งก่อน ๆ ลูกค้านำสินค้าชิ้นไหนมาขาย
ท้ายที่สุด ลูกค้าอาจตัดสินใจไม่ขายกระเป๋ากับเขาก็ได้
แต่อิโตะซังอยากให้ลูกค้าก็กลับไปด้วยความรู้สึกดี
และอย่างน้อยที่สุด เขาหวังว่า ลูกค้ายังจำ KOMEHYO ได้
การมาที่ร้าน และได้พบกับเขา ก็เป็นช่วงเวลาที่สนุกดี
นั่นคือ Relationship … ความสัมพันธ์ … ที่ค่อย ๆ สาน
และนำไปสู่ความไว้วางใจ
ท่านไหนสนใจอยากพบเสน่ห์ดิสนีย์แลนด์ฉบับอิโตะซัง
เตรียมสินค้าที่อยากให้ทาง KOMEHYO Thailand ตีราคา
และนัดแกได้นะคะ
ปรกติ อิโตะซังอยู่ที่สำนักงานใหญ่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ค่ะ
(บทความนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก KOMEHYO Thailand)
+++
KOMEHYO มีหน้าร้าน 2 สาขา คือ เซ็นทรัลเวิลด์กับเซ็นทรัลบางนา
ร้านให้บริการรับซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง Pre-loved Items เช่น กระเป๋า นาฬิกา และเครื่องประดับ
สินค้าทุกชิ้นมี Certificate การันตีโดยผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นจาก KOMEHYO
รายละเอียดเพิ่มเติม : www.komehyo.co.th

Avatar photo
เจ้าของนามปากกา เกตุวดี กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดญี่ปุ่นที่เขียนบทความจากประสบการณ์ศึกษาและทำงานที่ญี่ปุ่นเกือบ 10 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเขียนประจำเว็บไซต์กรุงศรี กูรูด้านการตลาดที่พร้อมให้ความรู้และเรื่องราวสไตล์แดนปลาดิบ "หมั่นถามตนเองเสมอว่า ในวันนี้เราได้สร้างประโยชน์อะไรให้ลูกค้า/สังคมแล้วหรือยัง"