เมื่อ 2 ปีก่อน คุณแม่ชาวญี่ปุ่นขับรถมาส่งดิฉันที่สนามบินคันไซ
ขณะที่ดิฉันกำลังจะเช็คอิน เธอนึกอะไรบางอย่างออก แล้ววิ่งไปที่ร้านสะดวกซื้อ Lawson
10 นาทีถัดมา …คุณแม่วิ่งกระหืดกระหอบกลับมาพร้อมขนมเค้กแบนๆ 3 ชิ้นในถุงพลาสติกบางๆ
“ขอโทษที่หาซื้อเค้กของโปรดทุกคนให้ไม่ทันนะ แต่ลองชิมนี่ดู ฉันคิดว่าครอบครัวเธอต้องชอบ”

ดิฉันรู้สึกทั้งเกรงใจ ขณะเดียวกันก็รู้สึกขยาด
ขนมหวานทั่วไปของร้านสะดวกซื้อไม่ค่อยอร่อยเท่าไร
เพราะราคาถูก คุณภาพไม่ได้ดีนัก
พอถึงเมืองไทย ดิฉันบอกแม่ว่า
“คุณแม่ญี่ปุ่นฝากขนมเค้กมาให้”
แล้วยื่นให้แม่ทาน ส่วนตัวดิฉันเองนั่งมองเงียบๆ
แม่ดิฉันชิม แล้วบอกว่า “อร่อย!!!”
อะไรนะ?
ดิฉันใช้ช้อนกาแฟเล็กๆ หั่นขนมเค้กนั่นมาชิมบ้าง
“อืม…อร่อย…..”
++++++++++++++++
“อร่อย!!!”
เสียงผู้บริหาร Lawson เซ็งแซ่ในห้องประชุม
แม้แต่ประธานเลือดร้อนสุดโหดอย่างคุณ Niinami
คุณ Suzuki ผู้รับผิดชอบโปรเจ็คนี้ยิ้มแปล้และถอนหายใจด้วยความโล่งอก
+++++++++++++++++
Suzuki ผู้จัดการฝ่าย R&D เป็นผู้เสนอไอเดียทำโปรเจ็คนี้ขึ้นมา
“ต้องเป็นโรลเค้กที่ทำให้ลูกค้าสาวๆ แฮ้ปปี้!”
นั่นเป็นที่มาของโรลเค้กเนื้อนุ่มครีมแน่นหอมอร่อยชิ้นนี้
เขาเริ่มจาก “พระเอก” ของเค้ก …ครีม
Suzuki เดินชิมเค้กตามห้างและร้านดังๆหลายแห่งเพื่อหาว่า ครีมแบบไหนที่อร่อย
จากนั้น ลองมาทำที่โรงงานดู
สูตรครีมที่เขาลองทำมีทั้งหมด “140 สูตร”
..ขอย้ำว่า นี่คือจำนวนสูตรครีมสดอย่างเดียว ไม่ใช่ตัวเค้ก
ครีมที่เขาเลือก เป็นสูตรเบา นุ่ม แต่หอมกลิ่นนม
และกลิ่นนมนั้น มาจากการใช้นมสดจากฟาร์มฮอกไกโด
++++++++++++++++++++
“เป็นไปไม่ได้!!”
เจ้าของบริษัทนมในเมืองฮอกไกโดปฏิเสธเสียงแข็งเมื่อ Suzuki ขอให้ทางบริษัทขายครีมสดให้
เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะผลิตและส่งครีมสดให้ Lawson ในปริมาณเยอะขนาดนั้น..
Susuki ต้องลงไปคุกเข่าและขอเจ้าของอยู่หลายครั้ง กว่าจะได้ “พระเอก” ครีมสดมา
เมื่อได้ครีมแล้ว ก็ต้องผลิตเนื้อเค้ก
ถ้าใช้วิธีทำโรลเค้กแบบปกติ คือ ทาครีมบนเนื้อเค้ก แล้วม้วนเป็นโรลแท่งใหญ่ๆ
Lawson จะไม่สามารถผลิตโรลเค้กแบบหั่นชิ้นในปริมาณมากๆ ได้
ทางบริษัทต้องทำเนื้อเค้กก่อน แล้วค่อยใส่ครีมลงไป ทีละชิ้นๆ
ปัญหาคือ เนื้อเค้กที่บริษัททำอยู่ซึมความชื้นของครีมได้เร็วไป
ทำเก็บไว้ไม่ได้ เนื้อเค้กจะหนักไป ไม่อร่อย
Suzuki จึงต้องไปหาเนื้อเค้กที่ละเอียด ฟู นุ่ม
เขาสืบทราบจากร้านขนมสุดหรูแห่งหนึ่งว่า ร้านนั้นใช้แป้งของบริษัท Masuda ในเมืองโกเบ
Suzuki จึงรีบซื้อมาอบเค้กดู
ตัวเค้กไปได้ดีกับครีมสดมากๆ
ปัญหาคือ ราคาผงแป้งนี้แพงกว่าแป้งทั่วไปถึง 1.6 เท่า
แต่เดี๋ยวก่อน … ถ้าซื้อทีละมากๆ ต้นทุนอาจจะต่ำลงก็ได้
Suzuki คิดได้แล้วจึงลองโทรไปหาเจ้าของบริษัทแป้ง
++++++++++++++++++++
“เป็นไปไม่ได้!!”
เจ้าของบริษัทแป้งตะโกนใส่หูโทรศัพท์
“แป้งคุณภาพดีของบริษัทจะนำไปใช้กับขนมที่เป็น mass อย่างนั้นได้อย่างไร!”
Suzuki ไม่ยอมแพ้ เขาเดินทางไปที่โกเบด้วยตนเองอยู่หลายครั้ง
จนในที่สุด เจ้าของก็ยอมขายแป้งพรีเมี่ยมสุดหรูให้แก่ Lawson
++++++++++++++++++++++++
เมื่อได้วัตถุดิบชั้นเลิศมาแล้ว สิ่งที่ Suzuki เผชิญถัดมา คือ กรรมวิธีการทำขนม
คนในโรงงาน Lawson ไม่ชินกับการใช้แป้งพรีเมี่ยมเบาละเอียดสักเท่าไรนัก
แป้งที่เหมาะกับขนมทำมือ มากกว่าขนมอุตสาหกรรมแบบ Lawson
โรงงานต้องปรับ line การผลิตใหม่ทั้งหมด
โดย Suzuki เองต้องควบคุมตั้งแต่อุณหภูมิแป้งขนม ระยะเวลาที่อบ ความเร็ว ฯลฯ
กว่าจะได้โรลเค้กที่ถูกใจและอร่อยเหมือนทานจากร้านเค้กชื่อดัง
++++++++++++++++++++++++
“เป็นไปไม่ได้!!”
เสียงตกใจของคู่แข่งทั้งหลายของ Lawson

แต่รสชาติเทียบเท่าร้านเค้กชื่อดังในญี่ปุ่น
แน่นอน โรลเค้กตัวนี้กลายเป็นสินค้าขายดีเทน้ำเทท่า
โดยมียอดขายทั่วประเทศสูงถึงวันละ 6 แสนชิ้น
Premium Roll Cake ตัวนี้ กลายเป็นสินค้ายอดฮิตตลอดกาลของร้าน Lawson
แม้ภายในไม่กี่เดือนถัดมา คู่แข่งทุกเจ้าทำโรลเค้กออกมาขายตามเช่นกัน
แต่ก็ไม่มีโรลเค้กของเจ้าไหน อร่อย นุ่ม และขายดีเท่าของ Lawson เลย
++++++++++++++++++++++++
สินค้าตัวนี้คงไม่เกิด หาก Suzuki มองว่า
เขาแค่ต้องผลิตขนมหวานอีกสักอย่างมาวางขายในร้าน
ขนมเค้กนี้ “หนัก” เหลือเกิน
กว่าจะหาสูตรครีม กว่าจะหาวัตถุดิบที่ถูกใจ กว่าจะปรับกรรมวิธีการผลิต
กว่าจะลด cost ให้ราคาขายไม่แพงจนเกินไป
“เป็นไปไม่ได้!”
กี่ครั้งที่ Supplier และคนในโรงงานตะโกนออกมา
แต่ Suzuki เลือกตัดคำว่า “ไม่”ของคนเหล่านั้นออกไป
และเปลี่ยนเป็น
“เป็น…ไปได้!“